Abstract:
ผู้สูงอายุมีอายุยืนยาวเพิ่มมากขึ้น ต้องเผชิญกับสภาพทางสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้มีปัญหาสุขภาพ ไม่เฉพาะสุขภาพทางกายเท่านั้น สุขภาพจิตก็เป็นปัญหาด้วยเช่นเดียวกัน การศึกษาจึงต้องการค้นหาความสัมพันธ์ระหว่างการเห็นคุณค่าตนเองกับภาวะความสมบูรณ์ทางสุขภาพจิตของผู้สูงอายุ กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้สูงอายุ 200 คน ของตำบลวังตะกู อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม ข้อมูลเก็บด้วยการสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้าง และวิเคราะห์ด้วยร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์เพียร์สัน ผลการศึกษาพบว่า ผู้สูงอายุส่วนมากเป็นหญิงร้อยละ (61.5%) อายุเฉลี่ย 69.98+-7.52 ปี จบการศึกษาสูงสุดระดับประถมศึกษา (65.0%) มีสถานภาพสมรสคู่ (70.5%) และมีโรคประจำตัว (83.0%) ผู้สูงอายุส่วนมากเห็นความสำคัญตนเองโดยรวมในระดับสูง ให้คะแนนเฉลี่ยคิดเป็นร้อยละ 81.0 ของคะแนนเต็ม และมีภาวะความสมบูรณ์ทางสุขภาพจิต โดยรวมในระดับดีมากให้คะแนนคิดเป็นร้อยละ 84.5 ของคะแนนเต็ม การเห็นคุณค่าตนเองกับภาวะความสมบูรณ์มีความสัมพันธ์กันเชิงบวกให้ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์เพียร์สัน .223 มีนัยสำคัญทางสถิติ P<0.05 ดังนั้น ควรมีการศึกษาเกี่ยวกับปัจจัยด้านอื่น ๆ ที่จะส่งผลต่อภาวะสุขภาพจิตของผู้สูงอายุ เช่น ด้านสภาพแวดล้อม ด้านเศรษฐกิจ