Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มุ่งศึกษาและวิเคราะห์ความต้องการของชุมชน ในเขตพื้นที่เทศบาลเมืองแสนสุข เพื่อประเมินสถานการณ์ในชุมชนและทราบถึงความต้องการของชุมชน ด้านสังคมและวัฒนธรรม ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพการแพทย์และการสาธารณสุข ค้นหาวิธีการสร้างความมีส่วนร่วมของชุมชน ปัจจัยที่เอื้อต่อความสำเร็จ หรือ อุปสรรค์ในการพัฒนาการให้บริการวิชาการของศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพาใช้กระบวนการวิจัยแบบผสมผสาน(Mixedmethodology) โดยวิจัยเชิงสำรวจและวิจัยเชิงคุณภาพ ในการวิเคราะห์ความต้องการของชุมชน ประชากรที่ใช้ในการศึกษาวิจัยครั้งนี้ คือประชากรที่อาศัยอยู่จริงในเขตพื้นที่เทศบาลเมืองแสนสุข อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี จำนวน 44,312 คน กำหนดขนาดของกลุ่มตังอย่างของเครจ์ซี่และมอร์แกน (Krejcie and Moegan, 1960) ได้จำนวนของกลุ่มตัวอย่าง 315 คน สุ่มแบบแบ่งชั้น (Stratified random sampling) จาก ตำบล แสนสุข เหมือง และห้วยกะปิ ใช้ระยะเวลาในการศึกษาวิจัย 1 ปี ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 ผลการศึกษาพบว่า ชุมชนเทศบาลเมืองแสนสุข มีความต้องการการบริการวิชาการ ในภาพรวม อยู่ในระดับมาก (X = 4.28. SD = 0.53) โดย มีความต้องการด้านการบริการรักษาพยาบาล อยู่ในระดับมากที่สุด (X = 4.59, SD = 0.60) รองลงมา คือ ความต้องการด้านการบริการวิชาการและการวิจัย อยู่ในระดับ มากที่สุด (X = 4.51, SD = 0.52) ด้านการบริการรักษาพยาบาล มีความต้องการการให้บุคลากรทางการแพทย์มีจิตบริการ เอื้อเฟื้อ เอื้ออาทร ดุจญาติมิตร อยู่ในระดับมากที่สุด (X = 4.92, SD = 0.43) ส่วนด้านการบริการวิชาการและการวิจัย มีความต้องการให้จัดประชุมวิชาการด้านสุขภาพประจำปี อยู่ในระดับมากที่สุด (X = 4.75, SD = 0.50) ประเด็นเร่งด่วนที่รับบริการต้องการการบริการวิชาการ คือ การจัดสถานที่ฟื้นฟูสุขภาพแก่ผู้สูงอายุและผู้พิการอย่างครบวงจร ร้อยละ 36 และมีข้อเสนอแนะให้นำข้อมูลจากการสำรวจขั้นพื้นฐานนี้ไปศึกษาความต้องการของชุมชนในเชิงลึกในแต่ละด้าน โดยกิจกรรมร่วมกับชุมชนเพื่อสร้างแนวทางในการพัฒนาร่วมกันให้เกิดการพัฒนาชุมชนที่เป็นรูปธรรมต่อไป