Abstract:
การศึกษาเรื่อง การประเมินผลการจัดบริการสังคมแก่ผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจังหวัดนราธิวาสเป็นการศึกษาวิจัยเชิงปริมาณ (Quantitative research) และเชิงคุณภาพ (Qualitative research) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างบริบท ปัจจัยนำเข้ากระบวนการผลผลิต และการจัดบริการสังคมแก่ผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจังหวัดนราธิวาส 2) ศึกษาองค์ประกอบเชิงยืนยันของบริบท ปัจจัยนำเข้า กระบวนการ ผลผลิตและการจัดบริการสังคมแก่ผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจังหวัดนราธิวาส และ 3) ศึกษาความสัมพันธ์เชิงสาเหตุของบริบท ปัจจัยนำเข้า กระบวนการ ผลผลิต และการจัดบริการ สังคมแก่ผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจังหวัดนราธิวาส 4) ศึกษาปัญหา อุปสรรคในการจัดบริการสังคมและแนวทางในการแก้ปัญหาการจัดบริการสังคมแก่ผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจังหวัดนราธิวาส กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนราธิวาส ปลัดเทศบาล/ เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบในการจัดบริการสังคมแก่ผู้สูงอายุ ประธานชุมชน/ ตัวแทน ผู้นำชุมชน และผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจังหวัดนราธิวาส โดยการสัมภาษณ์ จำนวน 78 คน และตอบแบบสอบถาม จำนวน 416 คน จาก 11 เทศบาลในองค์กรปกครอง ส่วนท้องถิ่นจังหวัดนราธิวาส การวิจัยใช้วิธีสุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้มี 2 ชุด คือ แบบสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้าง และแบบสอบถาม สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ประกอบด้วย ค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การวิเคราะห์สหสัมพันธ์ การวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงยืนยัน การวิเคราะห์สมการเชิงโครงสร้างและการวิเคราะห์เนื้อหา ผลการวิจัย พบว่า 1. ผลการตรวจสอบความสัมพันธ์ระหว่างด้านบริบท ปัจจัยนำเข้า กระบวนการ ผลผลิตและการจัดบริการสังคมแก่ผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจังหวัดนราธิวาส พบว่า ทุกด้านมีความสัมพันธ์กันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01 2. ผลการตรวจสอบความสอดคล้องของโครงสร้างองค์ประกอบเชิงยืนยันของ 1) บริบท 2) ปัจจัยนำเข้า 3) กระบวนการ 4) ผลผลิต และ 5) การจัดบริการสังคมแก่ผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจังหวัดนราธิวาส พบว่า ระดับความกลมกลืนของโครงสร้างองค์ประกอบ มีความสอดคล้องกับข้อมูลเชิงประจักษ์ 3. ผลการตรวจสอบความสอดคล้องของสมการโครงสร้างของปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการจัดบริการสังคมแก่ผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจังหวัดนราธิวาสกับข้อมูลเชิงประจักษ์ พบว่า ค่าวัดระดับความกลมกลืน คือ ค่าไคสแควร์ มีค่าเท่ากับ 615.907 ค่า χ 2 / df เท่ากับ 3.225 ค่าองศาอิสระเท่ากับ 191 และเมื่อพิจารณาดัชนีความสอดคล้องของโมเดลกับข้อมูลเชิงประจักษ์ พบว่า ค่า GFI เท่ากับ .931 ค่า AGFI เท่ากับ .900 ค่า CFI เท่ากับ .951 และค่า RMSEA เท่ากับ .058 แสดงว่ารูปแบบของสมการ โครงสร้างของปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการจัดบริการสังคม แก่ผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจังหวัดนราธิวาสกับข้อมูลเชิงประจักษ์ มีความสอดคล้องกัน จึงสามารถนำโมเดลนี้ไปใช้ได้ และสอดคล้องกับแนวคิดทฤษฏีของการวิจัย 4. ปัญหาและอุปสรรคในการจัดบริการสังคม ได้แก่ ขาดงบประมาณในการจัดทำโครงการ ผู้สูงอายุบางคนยังไม่สามารถเข้าถึงบริการได้เนื่องจากสภาพร่างกาย การเดินทางลำบาก ไม่มีผู้ดูแล ผู้สูงอายุอยู่ตามลำพัง แนวทางในการแก้ไขการสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ควรมีบทบาทในการดำเนินโครงการมากขึ้น และควรจัดสรรงบประมาณให้เพียงพอ