Abstract:
การศึกษาวิจัยครั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อ 1) เพื่อศึกษาระดับความผูกพันต่อองค์กรของพยาบาลวิชาชีพ โรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติฯ 2) เพื่อศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อความผูกพันต่อองค์กรของพยาบาลวิชาชีพ โรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติฯ ซึ่งกลุ่มตัวอย่างเป็นพยาบาลวิชาชีพ โรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติฯ จำนวน 130 คน และใช้รูปแบบการสุ่มตัวอย่างอย่างง่ายด้วยวิธีจับสลากใช้แบบสอบถามออนไลน์ (QR Code) ที่มีความน่าเชื่อถือ (Reliability) สูง เป็นเครื่องมือในการเก็บรวบรวมข้อมูล สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลคือค่าความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการวิเคราะห์ถดถอยเชิงพหุผลการศึกษาวิจัย พบว่า พยาบาลวิชาชีพ มีความผูกพันต่อองค์กรอยู่ในระดับปานกลาง (ค่าเฉลี่ย = 2.86) เมื่อพิจารณาเป็นรายด้านพบว่า อันดับหนึ่งคือความผูกพันด้านความรู้สึกอยู่ในระดับปานกลาง (ค่าเฉลี่ย = 3.09) รองลงมา คือความผูกพันต่อเนื่องอยู่ในระดับปานกลาง (ค่าเฉลี่ย = 2.66) และค่าเฉลี่ยของความผูกพัน น้อยที่สุด คือความผูกพันที่เกิดจากมาตรฐานทางสังคม อยู่ในระดับน้อย (ค่าเฉลี่ย = 2.32) ตามลำดับ ความคิดเห็นของพยาบาลวิชาชีพเกี่ยวกับปัจจัยด้านลักษณะงาน โดยรวมอยู่ในระดับมากเมื่อพิจารณารายด้านพบว่า ปัจจัยด้านลักษณะงานสูงที่สุด คือความสัมพันธ์ที่ดีต่อเพื่อนร่วมงาน รองลงมาคือความสำคัญของงาน และความก้าวหน้าในงาน ตามลำดับ ความคิดเห็นเกี่ยวกับปัจจัยด้านประสบการณ์ในการทำงาน โดยรวมอยู่ในระดับปานกลางเมื่อพิจารณารายด้าน พบว่า ปัจจัยด้านประสบการณ์ในการทำงานสูงที่สุด คือความรู้สึกว่าตนมีความสำคัญต่อองค์กร รองลงมาคือความพึ่งพาได้ขององค์กร ปัจจัยที่ส่งผลต่อความผูกพันต่อองค์กรของพยาบาลวิชาชีพ โรงพยาบาล เฉลิมพระเกียรติฯ พบว่า ปัจจัยด้านประสบการณ์การทำงาน คือความรู้สึกว่าตนมีความสำคัญต่อองค์กร ส่งผลต่อความผูกพันต่อองค์กรมากที่สุด (Beta = 0.41) รองลงมาคือ ปัจจัยด้านักษณะงาน คือความก้าวหน้าในงานมีความสำคัญต่อองค์กร (Beta = 0.30) และปัจจัยลักษณะ ส่วนบุคคลคือระยะเวลาการปฏิบัติงาน (Beta = 0.15) โดยทั้งสามปัจจัยนี้ร่วมกันทำนายหรือ อธิบายความผันแปรของความผูกพันต่อองค์กรได้ร้อยละ 44.00 ( R2 = 0.44)