Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ในการศึกษา คือ 1) เพื่อศึกษาความสุขในการทำงานของบุคลากรในเทศบาลนคร 2) เพื่อพัฒนาตัวแบบการเสริมสร้างความสุขในการทำงานสำหรับบุคลากรในเทศบาลนครที่มีตัวแปรต่าง ๆ เป็นองค์ประกอบ 3) เพื่อทดสอบความสอดคล้อง กลมกลืนของตัวแบบการเสริมสร้างความสุขในการทำงานสำหรับบุคลากรในเทศบาลนคร กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ศึกษา คือ พนักงานเทศบาล ลูกจ้างประจำ และพนักงานจ้างที่ปฏิบัติงาน อยู่ในเทศบาลนคร 29 แห่ง จำนวน 394 คน การวิเคราะห์ข้อมูลดำเนินการโดยใช้สถิติพรรณนา โดยใช้ค่าเฉลี่ย (Mean) และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard division) เพื่อวิเคราะห์ระดับความสุขในการทำงานของบุคลากรในเทศบาลนคร การวิเคราะห์โมเดลการวัด โดยการวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงยืนยัน (Confirmatory factor analysis: CFA) และวิเคราะห์อิทธิพลของตัวแปร สาเหตุที่มีต่อตัวแปรผลดำเนินการโดยการวิเคราะห์ตัวแบบสมการโครงสร้าง (Structural equation modeling analysis: SEM) ผลการศึกษาพบว่า บุคลากรในเทศบาลนครมีความสุขในการทำงานในระดับมาก โดยมีความพึงพอใจในการทำงานในภาพรวมในระดับมาก ความผูกพันต่อองค์การในภาพรวม ในระดับปานกลาง และความรู้สึกยึดมั่นผูกพันในงานในภาพรวมอยู่ในระดับมาก ตัวแบบการเสริมสร้างความสุขในการทำงานสำหรับบุคลากรในเทศบาลนครที่พัฒนาขึ้นจากทฤษฎี มีองค์ประกอบหรือตัวแปรแฝง (Latent variables) 6 ตัวแปร และตัวแปรสังเกตได้ (Observed variables) 15 ตัวแปร โดยตัวแปรแฝงความสุขในการทำงาน ประกอบด้วยตัวแปรสังเกตได้ 3 ตัวแปร ได้แก่ ความพึงพอใจในการทำงาน ความผูกพันต่อองค์การ และความยึดมั่นผูกพันในงาน ตัวแปรแฝงด้านภาวะผู้นำแบบเปลี่ยนสภาพ ประกอบด้วย ตัวแปรสังเกตได้ 4 ตัวแปร ได้แก่ การมีอิทธิพลอย่างมีอุดมการณ์การสร้างแรงบันดาลใจ การกระตุ้นทางปัญญา และการคำนึงถึงความเป็นปัจเจกบุคคล ตัวแปรแฝงด้านการบริหารทรัพยากรมนุษย์ ประกอบด้วย ตัวแปรสังเกตได้ 2 ตัวแปร ได้แก่ การใช้แนวทางปฏิบัติที่เน้นผลงานระดับสูง และการพัฒนา และจัดการประเมินผลการปฏิบัติงานที่ยุติธรรม ตัวแปรแฝงด้านสภาพแวดล้อมในการทำงานประกอบด้วยตัวแปรสังเกตได้ 2 ตัวแปร ได้แก่ สภาพแวดล้อมในการทำงานด้านกายภาพ และการสร้างบรรยากาศในการทำงาน ตัวแปรแฝงด้านการเสริมสร้างสุขภาพ ประกอบด้วยตัวแปร สังเกตได้ 2 ตัวแปร ได้แก่ การเสริมสร้างสุขภาพกาย และการเสริมสร้างสุขภาพจิต ตัวแปรแฝง ด้านการสนับสนุนการดำเนินชีวิต ประกอบด้วยตัวแปรสังเกตได้ 2 ตัวแปร ได้แก่ การส่งเสริม การออมและการสนับสนุนการสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัว ตัวแบบการเสริมสร้างความสุขในการทำงานสำหรับบุคลากรในเทศบาลนคร มีค่าไค-สแควร์สัมพัทธ์ (χ 2 / df) มีค่าน้อยกว่า 2 ค่าดัชนีวัดความสอดคล้อง (Goodness of fit index: GFI) เท่ากับ .935 ค่าดัชนีวัดความสอดคล้องที่ปรับแก้แล้ว (Adjusted goodness-of-fit index: AGFI) เท่ากับ .925 ค่าดัชนีความสอดคล้องเปรียบเทียบ (Comparative fit index: CFI) มีค่าเท่ากับ .984 และค่าดัชนีรากของค่าเฉลี่ยกำลังสองของการประมาณค่าความคลาดเคลื่อน (Root meansquareerrorof approximation: RMSEA) มีค่าเท่ากับ .048 จึงสรุปว่าตัวแบบมีความสอดคล้องกลมกลืนกับ ข้อมูลเชิงประจักษ์ ผลการวิเคราะห์อิทธิพลทางตรงของตัวแปรสาเหตุที่มีต่อตัวแปรผลในตัวแบบที่พัฒนาขึ้น พบว่า ภาวะผู้นำแบบเปลี่ยนสภาพและการบริหารทรัพยากรมนุษย์มีอิทธิพลทางตรงต่อความสุขในการทำงาน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ .01 (ß = .57) สภาพแวดล้อมในการทำงาน มีอิทธิพลทางตรงต่อความสุขในการทำงาน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ .05 (ß = .19) การสร้างเสริมสุขภาพและการสนับสนุนการดำเนินชีวิตไม่มีอิทธิพลทางตรงต่อความสุขในการทำงานที่นัยสำคัญทางสถิติ .01 (ß = -.05)