Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนานโยบายให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิต และการค้าอัญมณีและเครื่องประดับของโลก ในองค์ประกอบที่เป็นวัตถุประสงค์ แนวการดำเนินงานของนโยบาย และกลไกของนโยบาย ใช้รูปแบบการวิจัยเชิงคุณภาพ ด้วยการวิจัยเอกสาร การสัมภาษณ์เชิงลึกและการสนทนากลุ่ม ผู้ให้ข้อมูลสำคัญที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้มีจำนวน 60 คน แบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 กลุ่มผู้กำหนดนโยบาย กลุ่มที่ 2 กลุ่มผู้นำนโยบายไปปฏิบัติ กลุ่มที่ 3 กลุ่มผู้ที่ได้รับผลประโยชน์จากนโยบาย และกลุ่มที่ 4 กลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากนโยบาย การวิเคราะห์ข้อมูลใช้วิธีวิเคราะห์เนื้อหาแบบหน่วยบริบท ผลการวิจัยพบว่า ประเทศไทยมีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางการผลิตและการค้าอัญมณี และเครื่องประดับของโลก และได้นำเสนอร่างนโยบายโดยกำหนดวัตถุประสงค์ว่า พัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการผลิตและการค้าอัญมณีและเครื่องประดับของโลก โดยใช้กลไกของนโยบาย คือ การเปลี่ยนสถานภาพของสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (GIT) โดยเสนอให้เปลี่ยนสถานภาพจากองค์การมหาชนกลุ่ม 2 (บริการที่ใช้เทคนิควิชาการเฉพาะด้าน หรือสหวิทยาการ) ไปอยู่ที่องค์การมหาชนกลุ่ม 1 (พัฒนาและดำเนินการตามนโยบายสำคัญของรัฐเฉพาะด้าน) เพื่อให้สามารถดำเนินการเป็นองค์กรกลางของภาครัฐและภาคเอกชนในการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ และสมาคมการค้าต่าง ๆ รวมทั้งทำหน้าที่เป็นตัวแทนอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับในเวทีการค้าโลก ทั้งนี้ได้เสนอแนวการดำเนินงานของนโยบายการพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการผลิตและการค้าอัญมณีและเครื่องประดับของโลก แบ่งเป็น 4 ด้าน ได้แก่ ทิศทางการพัฒนานโยบายของรัฐ ด้านการผลิต ด้านการตลาด และด้านกฎหมาย และระเบียบข้อบังคับ การพัฒนานโยบายเพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตและการค้าอัญมณีและเครื่องประดับของโลกในครั้งนี้ เป็นผลจากกระบวนการวิจัยเชิงนโยบายที่ยึดถือหลักการวิจัยแบบผสมที่อาศัยข้อมูลจากหลากหลายแหล่งตามหลักการสามเส้า และอาศัยหลักการมีส่วนร่วมบูรณาการจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทุกภาคส่วน เพื่อยกระดับเป็นศูนย์กลางการผลิตและการค้าอัญมณี และเครื่องประดับของโลกอย่างยั่งยืน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้