Abstract:
การวิจัยนี้เป็นวิจัยเชิงคุณภาพในรายกรณีศึกษา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความหมายของสุขภาพชุมชน รูปแบบการปฏิบัติงานในบทบาทของพยาบาลของชุมชน ปัจจัยที่เป็นส่วนสนับสนุนการปฏิบัติงาน และการจ้างงานพยาบาลของชุมชน ผู้ให้ข้อมูลหลักเป็นพยาบาลที่ปฏิบัติงาน ณ หน่วยงานที่เคยได้รับรางวัลในการจัดระบบบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิ และหรือได้รับการยอมรับจากประชาชนผู้ใช้บริการว่ามีบริการที่ดี หรือมีลักษณะบริการเฉพาะที่น่าสนใจ จากศูนย์สุขภาพชุมชนกระทรวงสาธารณสุขภาพ 2 แห่ง กระทรวงมหาดไทย 1 แห่ง มูลนิธิ 1 แห่ง หน่วยบริการสุขภาพในโรงงานอุตสาหกรรม 1 แห่ง รัฐวิสาหกิจ 1 แห่ง และพยาบาลพยาบาลอิสระ 1 ท่าน รวมเป็นพยาบาลของชุมชนจำนวน 7 แห่ง เก็บข้อมูลจากพยาบาลที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย บุคลากรทีมสุขภาพที่ร่วมปฏิบัติงาน แห่งละ 1-3 คน ประชาชนผู้ใช้บริการหรือรับผลของการบริการ แห่งละ 1-5 คน ผู้บังคับบัญชา โดยตรงกับพยาบาลของชุมชนที่คัดเลือกและหรือคณะกรรมการในองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ที่คัดเลือก ทำการเก็บข้อมูลโดยการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก และการบันทึกเสียง ตรวจสอบข้อมูลความถูกต้องของข้อมูลแบบสามเส้า และการส่งข้อมูลกลับแก่ผู้ให้ข้อมูลยืนยันความถูกต้อง ทำการวิเคราะห์ข้อมูลด้วยการวิเคราะห์เนื้อหา ผลหาวิจัยมีดังนี้
1. สุขภาพชุมชน มีความหมายเป็นองค์รวมใน 3 มิติ คือ 1) การไม่ป่วย 2) การพัฒนาทางกายภาพของชุมชน สิ่งแวดล้อมที่ดี และการมีส่วนร่วมของชุมชน 3) มีการให้บริการสุขภาพที่ครอบคลุม 4 มิติ คือ การรักษาโรคเบื้องต้น การส่งเสริมสุขภาพ การควบคุมป้องกันโรค และการฟื้นฟูสุขภาพ
2. การดูแลสุขภาพชุมชนจะต้องเป็นการปฏิบัติงานร่วมกัน ทั้งผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการ สำหรับผู้ให้บริการที่สำคัญ คือ พยาบาลชุมชน และทีมสหสาขาวิชาชีพสุขภาพ
3. พยาบาลชุมชนมีการดำเนินงานลักษณะเชิงรับและเชิงรุก โดยใช้ข้อมูลและสารสนเทศ การสร้างความรู้สึกการเป็นเจ้าของของคนในชุมชน การเป็นตัวอย่างที่ดี การสร้างสัมพันธ์ภาพกับชุมชน การตรวจคัดกรองโรค เป็นเครื่องมือในการทำงาน
4. ผลลัพธ์ของการดูแลสุขภาพชุมชนมี 3 ประการ คือ 1) ผลต่อประชาชนในชุมชน มีการเพิ่มขึ้นของพฤติกรรมสร้างเสริมสุขภาพ การเข้าถึงบริการสุขภาพ การมีส่วนร่วมในกิจกรรมสุขภาพของชุมชน 2) ผลต่อชุมชน มีการพัฒนาทางกายภาพ สิ่งแวดล้อม 3) ผลต่อผู้ให้บริการ การเจ็บป่วยของประชาชนลดลง ต้นทุนการทำงานที่ลดลง ประชาชนพอใจต่อบริการ และมีการเรียนรู้
5. สมรรถนะด้านบุคคล ได้แก่ ความตั้งใจ และความรักในงานชุมชน ความเสียสละ มีมนุษยสัมพันธ์ การประสานงาน และการสื่อสารที่ดี สมรรถนะด้านวิชาการ ได้แก่ ความสามารถด้านเวชปฏิบัติทั่วไป (การรักษาโรคเบื้องต้น) การปฏิบัติงานชุมชน การใช้คอมพิวเตอร์และข้อมูล ระบบสารสนเทศ และการดูแลสุขภาพกลุ่มเฉพาะ