Abstract:
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการจัดการห่วงโซ่อุปทานและประสิทธิภาพ ในการปลูกปาล์มน้ำมัน มีอิทธิพลต่อความเข้มแข็งของวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน ในภาคตะวันออกเป็นการวิจัยเชิงปริมาณ เครื่องมือในการศึกษา ใช้แบบสอบถามกลุ่มตัวอย่าง คือ ตัวแทนสมาชิกวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกปาล์มน้ำมัน ในภาคตะวันออก จำนวน 380 คน สถิติในการศึกษาคือ ค่าความถี่ค่าร้อยละค่าเฉลี่ยค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการวิเคราะห์ความถดถอยเชิงพหุแบบขั้นตอนด้วยโปรแกรม SPSS for Windows ผลการศึกษา พบว่า 1) การจัดการห่วงโซ่อุปทาน ภาพรวมอยู่ในระดับมากเมื่อพิจารณาแต่ละด้าน อันดับแรกได้แก่ ด้านโครงสร้างพื้นฐาน รองลงมา ด้านแรงงาน ด้านวัตถุดิบ ด้านบริหารจัดการ ด้านเทคโนโลยีและด้านเงินทุน 2) ประสิทธิภาพในการปลูกปาล์มน้ำมัน ภาพรวมอยู่ในระดับมากเมื่อพิจารณาแต่ละด้าน อันดับแรกได้แก่ ด้านปริมาณ รองลงมา ด้านคุณภาพ ด้านเวลาและด้านค่าใช้จ่าย 3) ความเข้มแข็งของวิสาหกิจชุมชน ภาพรวมอยู่ในระดับมากเมื่อพิจารณาแต่ละด้าน อันดับแรก ด้านการบริหารในการสร้างภาคีเครือข่ายของกลุ่มวิสาหกิจชุมชน รองลงมา ด้านการรวมตัวกันของเกษตรกรในการประกอบธุรกิจ ระดับชุมชน ด้านการส่งเสริมความรู้ความสามารถ ด้านระบบเศรษฐกิจ ชุมชนมีความเข้มแข็ง พึ่งพาตนเองได้และด้านการตลาด ตามลำดับ ผลการทดสอบสมมติฐาน พบว่า การจัดการห่วงโซ่อุปทานและประสิทธิภาพในการปลูกปาล์มน้ำมัน มีอิทธิพลต่อความเข้มแข็งของวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกปาล์มน้ำมันในภาคตะวันออกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ตัวแปรที่มีอิทธิพลมากที่สุด คือ ประสิทธิภาพในการปลูกปาล์มน้ำมัน (Beta = .357) รองลงมาคือการจัดการห่วงโซ่อุปทาน (Beta = .354) โดยตัวแปรทั้งสองสามารถทำนายได้ร้อยละ 15.70 (R square = 0.157)