Abstract:
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของชนิดอาหาร วัสดุรองพื้น และปริมาณสารอินทรีย์ต่อการลงเกาะของหอยหวาน Babylonia areolata Link, 1807 ผลของการศึกษาชนิดอาหารต่อการลงเกาะของตัวอ่อนหอยหวานพบว่า ตัวอ่อนหอยหวานที่ได้รับกุ้งเป็นอาหารจะมีเปอร์เซ็นต์การพัฒนาจนถึงระยะเกาะลงพื้นสูงสุดและแตกต่างกับชุดทดลองอื่นอย่างมีนัยสำคัญ (P<0.05) ในขณะที่ตัวอ่อนหอยหวานได้รับหอยแมลงภู่เป็นอาหารมีเปอร์เซ็นต์การพัฒนาจนถึงระยะเกาะลงพื้นรองลงมาแต่ไม่แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ (P>0.05) กับตัวอ่อนหอยหวานที่ได้รับปลาข้างเหลืองและปลาหมึกเป็นอาหาร
ผลการศึกษาวัสดุรองพื้นต่อการลงเกาะของตัวอ่อนหอยหวาน พบว่าชุดทดลองที่รองพื้นด้วยทรายหยาบจะทำให้อัตราการลงเกาะของลูกหอยหวานสูงที่สุดและแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ (P<0.05) กับชุดทดลองที่รองพื้นด้วยเชือกพลาสติก ทรายละเอียดและเปลือกหอยนางรมชิ้นเล็ก
ผลการศึกษาปริมาณสารอินทรีย์ต่อการลงเกาะของหอยหวานพบว่าปริมาณอินทรีย์วัตถุในวัตถุรองพื้นมีผลต่อการลงเกาะของตัวอ่อนหอยหวานแตกต่างกัน ปริมาณสารอินทรีย์ 20-25 เปอร์เซ็นต์ในวัสถุรองพื้นช่วยให้ตัวอ่อนมีพัฒนาการลงเกาะพื้นได้มากที่สุด อย่างไรก็ตามปริมาณอินทรีย์วัตถุในวัตถุรองพื้นมากจะมีผลยับยั้งการลงเกาะของตัวอ่อนหอยหวานด้วย ผลการทดลองนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการอนุบาลลูกหอยหวานเชิงพาณิชย์ได้