Abstract:
การที่กฎหมายบัญญัติยกเว้นโทษให้สามีและภริยาที่กระทําความผิดเกี่ยวกับทรัพย์สินต่อกันเหตุผลประการหนึ่งเพราะการลงโทษไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมและเพื่อความเป็นเอกภาพของสถาบันครอบครับอันเป็นหลักสากล เมื่อเปรียบเทียบกับกฎหมายอาญาของต่างประเทศในเรื่องเดียวกัน พบว่า กฎหมายอาญาไทยมีขอบเขตที่กว้างขวางและให้การคุ้มครองการกระทําความผิดในความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยามากกว่าต่างประเทศ ผู้วิจัยเห็นว่าเป็นการบัญญัติเหตุยกเว้นโทษไว้มากเกินความเหมาะสมและด้วยเหตุนี้อาจเป็นช่องทางให้ผู้กระทําความผิดแสวงหาประโยชน์จากการเป็นสามีภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายฉ้อฉลหลอกลวงคู่สมรส ภายหลังทําการสมรสเพราะเหตุว่า กฎหมายยกเว้นโทษตามมาตรา 71 วรรคหนึ่งดังนั้นจึงไม่ควรยกเว้นโทษทางอาญาโดยสิ้นเชิงแต่เพื่อความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยาและสถาบันครอบครัว กฎหมายควรแก้ไขจากเหตุยกเว้นโทษมาเป็นความผิดอันยอมความได้และอยู่ในดุลพินิจของศาลที่จะลดหย่อนผ่อนโทษในลักษณะเดียวกับมาตรา 71 วรรคสอง กล่าวคือ เป็นการให้อิสระแก่ผู้เสียหายที่จะตัดสินใจว่าจะดําเนินคดีกับผู้กระทําความผิดหรือไม่ประการใด นอกจากนั้นคําว่า สามีภริยา ตามมาตรา 71 วรรคหนึ่ง ยังไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นอยู่ของชายและหญิงในสังคม เนื่องจากปัจจุบันอัตราการเพิ่มขึ้นของชายหญิงที่อยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรสตามกฎหมายมีมากขึ้น จึงเห็นว่ากฎหมายควรจะแก้ไข เพิ่มเติมโดยกําหนดขอบเขตของคําว่า “สามีภริยา”ตามมาตรา 71 วรรคหนึ่ง ให้หมายความรวมถึง เฉพาะชายหญิงที่ยังอยู่กินฉันสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรสเพื่อให้สอดคล้องกับสถานะและความสัมพันธ์ของบุคคลในครอบครัวหรือสถาบันครอบครัวตามสภาพของสังคมในยุคปัจจุบัน