Abstract:
จากการศึกษาปัญหาทางกฎหมายในการใช้อํานาจของพนักงานสอบสวนในการแสวงหาพยานหลักฐานตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 131/1 พบว่า การใช้ดุลพินิจของพนักงานสอบสวนในการรวบรวมพยานหลักฐาน ซึ่งพนักงานสอบสวนมีดุลพินิจที่จะรวบรวม หรือไม่รวบรวมหลักฐานเข้าไว้ในสํานวนก็ได้ส่งผลให้การใช้ดุลยพินิจไม่รวบรวมพยานหลักฐาน ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเข้าไปในสํานวนของพนักงานสอบสวน แม้ไม่ทําให้การสอบสวนไม่ชอบ แต่ก็ก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้เสียหาย หรือผู้ต้องหาในคดีได้นอกจากนี้ปัญหาการที่ผู้ต้องหาและผู้เสียหายไม่ให้ความยินยอมในการตรวจพิสูจน์หลักฐาน พบว่าหากกรณีที่ผู้ต้องหาไม่ได้ให้ความยินยอมหรือไม่ให้ความร่วมมือในการแสวงหาพยานหลักฐานจากร่างกาย ส่งผลให้จะต้องไปเป็นตามบทสันนิษฐานของกฎหมายตามที่ได้กําหนดไว้ ผู้วิจัยเห็นว่า อาจจะยังไม่เพียงพอเนื่องจากในการดําเนินคดีอาญานั้น พยานหลักฐานทางคดีเป็นสิ่งที่สําคัญและจําเป็นอย่างมากที่จะต้องนําไป ประกอบกับสํานวนการสอบสวน อีกทั้งในการพิจารณาคดีหากไม่มีความชัดเจนของพยานหลักฐานอาจส่งผลต่อการพิจารณาคดีของศาล ผู้วิจัยมีข้อเสนอแนะดังต่อไปนี้ แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 131 “พนักงานสอบสวนต้องรวบรวมพยานหลักฐานทุกชนิดที่เกี่ยวข้องกับคดี เพื่อประสงค์จะทราบข้อเท็จจริงและพฤติการณ์ต่าง ๆ อันเกี่ยวกับความผิดที่ถูกกล่าวหาเพื่อจะรู้ตัวผู้กระทําผิด และพิสูจน์ให้เห็นความผิดหรือความบริสุทธิ์ของผู้ต้องหา” และเพิ่มเติมมาตรา 131/1 วรรคท้าย “หากการปฏิบัติตามวรรคแรก ไม่เป็นเหตุให้เกิดอันตรายหรือความเสียหายแก่ผู้ต้องหาหรือ ผู้เสียหายเจ้าพนักงานมีอํานาจกระทําได้โดยไม่จําต้องได้รับอนุญาตหรือรับความยินยอม”