Abstract:
พระราชบัญญัติล้างมลทิน ฯ พ.ศ. 2550 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อล้างประวัติการรับโทษให้กับบุคคลที่ต้องโทษทางอาญาที่พ้นโทษก่อนและในวันที่ประกาศใช้พระราชบัญญัติดังกล่าว หากแต่การลบล้างมลทินโดยผลของกฎหมายนั้นเป็นเพียงแค่การลบล้างผลของการลงโทษเท่านั้น ไม่มีผลลบล้างพฤติการณ์ของการกระทําความผิดแต่อย่างใด และในกรณีที่ศาลมีคําพิพากษาให้ผู้นั้นรอการกําหนดโทษหรือรอการลงโทษ ก็จะไม่อยู่ในบทนิยามของผู้ต้องโทษตามพระราชบัญญัติล้างมลทิน ฯ พ.ศ. 2550 ผลการวิจัยพบว่า 1. ปัญหาการบังคับใช้พระราชบัญญัติล้างมลทิน ฯ พ.ศ. 2550 จากแนวคิดของการล้างมลทินในโอกาสต่าง ๆ มักทําเพื่อเป็นการให้อภัยทาน เป็นการได้บําเพ็ญกุศลอย่างหนึ่ง หรือจะเป็นลักษณะการทําบุญประเทศ แต่พระราชบัญญัติล้างมลทิน ฯ พ.ศ. 2550 มาตรา 3 คํานิยามของผู้ต้องโทษ ไม่ครอบคลุมถึงผู้ต้องรอการกําหนดโทษหรือรอการลงโทษ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 2. การรอการกําหนดโทษหรือรอการลงโทษให้แก้จําเลย เพราะเหตุเกี่ยวกับตัวจําเลย เหตุเกี่ยวกับสภาพความผิด เหตุอื่นอันควรปราณี เป็นผู้ไม่ถูกคุมขังเสรีภาพ หรือไม่เคยต้องโทษจําคุกแต่อย่างใดกลับไม่ได้รับสิทธิการแก้ไขทะเบียนประวัติอาชญากร จึงไม่น่าจะถูกต้องตามวัตถุประสงค์ของการล้างมลทิน 3. บุคคลจะถูกขึ้นทะเบียนประวัติอาชญากรตั้งแต่ตกเป็นผู้ต้องหา โดยถูกจัดการข้อมูลตามระบบ โดยสํานักงานตํารวจแห่งชาติกําหนดหลักเกณฑ์เอาไว้ ทั้งความประพฤติหรือการกระทําที่เคยเป็นเหตุให้ถูกลงโทษในกรณีนั้น ยังคงมีอยู่เพื่อใช้โทษอุปกรณ์ ทั้งยังพบว่าเป็นบุคคลผู้มีความประพฤติบกพร่องในศีลธรรมอันดี อาจทําให้เป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามและขาดคุณสมบัติบางประการแก้การสมัครเข้ารับราชการหรือประกอบวิชาชีพนั้นได้ 4. แม้ว่าการล้างมลทิน จะไม่มีผลเป็นการลบประวัติอาชญากร แต่เพื่อให้ผู้ต้องโทษจําคุกหรือถูกลงโทษทางวินัยกลับสู่ฐานะเดิมก่อนรับโทษ เสมือนว่าไม่เคยต้องโทษจําคุกหรือถูกลงโทษทางวินัยมาก่อน เช่น การกลับสู่ฐานะเดิมโดยอัตโนมัติภายใน 3 ปีนับแต่วันที่ศาลมีคําพิพากษานั้นให้ล้มละลาย ตามมาตรา 81/1 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 หรือกรณีเทียบเคียง การกลับสู่ฐานะเดิมโดยอัตโนมัติภายใน 3 ปีนับแต่วันที่บริษัทข้อมูลเครดิตได้รับข้อมูลจากสถาบันการเงินที่เป็นสมาชิกตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต พ.ศ. 2545