Abstract:
ลูกจ้างหรือผู้ใช้แรงงานเป็นปัจจัยที่สําคัญต่อการขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ ความสัมพันธ์ของลูกจ้างกับนายจ้าง เกิดจากสัญญาแรงงาน ซึ่งก่อให้เกิดสิทธิและหน้าที่ต่อกันตามกฎหมาย เมื่อลูกจ้างต้องทํางานภายใต้บังคับบัญชาของผู้เป็นนายจ้างนายจ้างย่อมต้องการลูกจ้างที่ตนไว้วางใจ จึงทําให้คุณสมบัติของบุคคลผู้เป็นลูกจ้างเป็นสาระสําคัญ โดยเฉพาะความซื่อสัตย์สุจริตเพราะงานบางประเภท ลูกจ้างจะต้องทํางานใกล้ชิดกับทรัพย์สินของนายจ้าง หรืออาจต้องทําหน้าที่ครอบครอง ดูแลรักษาทรัพย์สินของนายจ้าง รวมถึงอาจต้องเป็นตัวแทนของนายจ้างในการรับมอบทรัพย์สินจากบุคคลอื่นมาให้นายจ้าง หรือส่งมอบทรัพย์สินของนายจ้างให้บุคคลอื่น ลูกจ้างจึงเป็นบุคคลที่อยู่ใกล้ชิดกับทรัพย์สินของนายจ้างมากกว่าบุคคลอื่น ๆ รวมถึงอาจใช้ความสัมพันธ์ระหว่างตนกับนายจ้างฉกฉวยเอาผลประโยชน์ที่ควรเป็นของนายจ้างไปเป็นของตนเอง ประมวลกฎหมายอาญามีการกําหนดฐานความผิดเกี่ยวกับทรัพย์โดยกําหนดบทลงโทษลูกจ้างที่กระทําผิดต่อนายจ้างหนักกว่าโทษของบุคคลทั่วไปหรือที่เรียกว่าเหตุฉกรรจ์ ในความผิดฐานลักทรัพย์ตามมาตรา 334 โดยมาตรา 335 กําหนดให้ผู้กระทําผิดรับโทษหนักขึ้น หากเป็นการลักทรัพย์ของนายจ้างหรือทรัพย์ที่อยู่ในความครอบครองของนายจ้างตามอนุ 11 เหตุผลคือลูกจ้างอยู่ใกล้ชิดกับทรัพย์สินของนายจ้างมากกว่าบุคคลอื่น ย่อมมีโอกาสกระทําความผิดต่อทรัพย์ได้มากกว่า บุคคลอื่น ด้วยเหตุผลเดียวกันนี้ เหตุใดความผิดฐานยักยอกตามมาตรา 352 ที่บัญญัติให้ผู้ที่ครอบครองทรัพย์ของผู้อื่น หากเบียดบังเอาทรัพย์นั้นไปเป็นของตนเอง หรือบุคคลอื่นที่สามโดยทุจริต เป็นความผิด เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับความผิดฐานลักทรัพย์ จะเห็นได้ว่าความผิดฐานยักยอกไม่มีการกําหนดให้การกระทําความผิดของลูกจ้างมาต้องรับโทษหนักขึ้น ในทางข้อเท็จจริง การที่ลูกจ้างเอาทรัพย์สินของนายจ้างไปโดยทุจริตย่อมเป็นความผิดแต่หากทรัพย์ที่ถูกเอาไปนั้นอยู่ในความครอบครองของนายจ้าง ลูกจ้างจะมีความผิดฐานลักทรัพย์ แต่ถ้าทรัพย์อยู่ในความครอบครองของลูกจ้าง ลูกจ้างจะมีความผิดฐานยักยอก ทั้ง ๆ ที่ความผิดทั้งสองฐานลูกจ้างประสงค์เอาทรัพย์ของนายจ้างไป อันเป็นการทําลายกรรมสิทธิ์ของนายจ้าง เช่นเดียวกันและลูกจ้างอยู่ในฐานะที่จะกระทําความผิดได้ง่ายกว่าบุคคลอื่นและเป็นการทําลายความไว้วางใจของนายจ้าง เช่นเดียวกัน ผู้วิจัยพบว่า ในกฎหมายต่างประเทศมีการบัญญัติความผิดฐานยักยอกไว้แตกต่างกัน เช่น กฎหมายมลรัฐมิชิแกน ประเทศสหรัฐอเมริกา ระบุความผิดของลูกจ้างที่ยักยอกทรัพย์ของนายจ้างไว้โดยเฉพาะ หรือในกฎหมายสาธารณรัฐฝรั่งเศสที่วางหลักกฎหมายอาญาเรื่องยักยอกโดยเน้นที่หลักความไว้วางใจเป็นพิเศษ ส่วนกฎหมายสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมันนีซึ่งกําหนดความฐานยักยอกไว้ 2 ลักษณะ คือ ความผิดที่เป็นเรื่องเบียดบัง และความผิดที่เป็นเรื่องไว้วางใจ ในขณะที่กฎหมายสหราชอาณาจักรซึ่งเป็นระบบคอมมอนลอว์ ไม่มีการกําหนดความผิดเกี่ยวกับทรัพย์เป็นลักทรัพย์หรือยักยอกเพราะมีแนวคิดว่า ต่างเป็นการกระทําเพื่อให้ได้ทรัพย์สินของผู้อื่นโดยมิชอบเช่นกัน แตกต่างกันเพียงวิธีการเพื่อให้ได้ทรัพย์ไปเท่านั้น จากการวิจัย ผู้วิจัยเห็นว่าความผิดฐานยักยอกในกรณีลูกจ้างยักยอกทรัพย์นายจ้างเป็นการกระทําที่ฉวยโอกาสจากความสัมพันธ์ระหว่างลูกจ้างนายจ้างที่อยู่หลักแห่งความไว้วางใจ การที่ลูกจ้างทําความผิดเป็นการทําลายความไว้วางใจของนายจ้าง จึงควรกําหนดให้ลูกจ้างรับโทษหนักขึ้นกว่าการกระทําผิดของบุคคลอื่น โดยกําหนดความผิดฐานยักยอกทรัพย์นายจ้างไว้ในประมวลกฎหมายอาญา ลักษณะ 12 ความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ หมวด 5 ความผิดฐานยักยอก ดังนี้ “มาตรา 352/1 ผู้ใดยักยอกทรัพย์ที่เป็นของนายจ้าง ต้องระวางโทษจําคุก.....................หรือปรับ............................ หรือทั้งจําทั้งปรับ” ทั้งนี้เป็นการแก้ไข เพื่อให้ผู้เป็นลูกจ้างมีความยับยั้งชั่งใจในการคิดที่จะกระทําความผิดมากขึ้น และให้การบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพมากขึ้น สอดคล้องกับสภาพสังคมในปัจจุบัน