Abstract:
ภาคตะวันออกของประเทศไทยประกอบด้วยพื้นที่ 8 จังหวัด คือ นครนายก ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ปราจีนบุรี และสระแก้ว มีเนื้อที่ประมาณ 36,503 ตารางกิโลเมตร มีประชากรประมาณ 4 ล้านคน ส่วนมากนับถือศาสนาพุทธ แต่มีประชากรนับถืออิสรามมากเป็นที่สองของประเทศรองจากภาคใต้ จัดเป็นเขตการศึกษา 12 มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2500 มีสำนักงานตั้งอยู่ที่จังหวัดชลบุรี ซึ่งเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค ดินแดนแถบนี้มีความเป็นมาในฐานะเมื่องท่าชายทะเล เมืองที่มีผลกระทบต่อความมั่นคง และผลประโยชน์ของชาติ เมืองหน้าด่านทั้งทางบกและทางทะเล และเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญ เศรษฐกิจโดยรวมประชากรมีรายได้เฉลี่ยต่อบุคคลสูงกว่าภูมิภาคอื่น ปัญหาหลักของภูมิภาค คือ ปัญหาการขยายตัวของชุมชนเมือง ปัญหามลภาวะ ปัญหาทรัพยากรธรรมชาติถูกทำลาย และปัญหาผลกระทบตามแนวชายแดนจากประเทศเพื่อนบ้าน การวิเคราะห์นโยบายของรัฐบาลด้านการศึกษาและสังคม พบว่า รัฐบาลมีนโยบายขยายการศึกษา และพัฒนาสังคมออกสู่ภูมิภาคตั้งแต่ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 เพื่อยกระดับคุณภาพของประชาชน แต่เป็นการดำเนินการไปพร้อมกันทั้งประเทศ ยังไม่ได้มีนโยบายพัฒนาภาคตะวันออกเป็นการเฉพาะพื้นที่จนกระทั่งหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองใหม่ ๆ รัฐบาลมีนโยบายขยายการศึกษาออกไปสู่ภูมิภาคให้ทั่วถึง ให้ประชาชนมีความรู้มากขึ้น เพื่อจะได้มีคุณสมบัติเหมาะสมกับการปกครองที่เปลี่ยนไป เป็นการพัฒนาการเมืองโดยมีเงื่อนไขด้านการศึกษาเป็นตัวกำหนด ต่อมาในระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 โรงเรียนหลายแห่งในกรุงเทพฯ หยุดกิจการเพราะภัยทางอากาศ และย้ายมาเปิดการสอนในภาคตะวันออกแทน ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สงบลงภาคตะวันออกได้รับความสนใจจากรัฐบาลมากขึ้น เพราะมีโครงการปรับปรุงและพัฒนาการศึกษาโดยได้รับความร่วมมือจากองค์การระหว่างประเทศ ได้ริเริ่มทดลองระบบการศึกษาแบบใหม่ ตั้งแต่ พ.ศ. 2493 เป็นต้นมา โรงเรียนและสถาบันการศึกษาหลายแห่งจากหลายจังหวัดในภาคตะวันออก เป็นสถานที่ดำเนินการจัดการทดลองในโครงการต่าง ๆ หลายโครงการ ก่อนที่จะขยายไปดำเนินการในภูมิภาคอื่น จึงมีผลทำให้ภาคตะวันออกได้พัฒนาไปด้วยในหลาย ๆ ด้าน ภายหลังประกาศใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตั้งแต่ฉบับแรก พ.ศ. 2504 เป็นต้นมา นโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาภาคตะวันออกชัดเจนขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่มีการขุดพบน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524 พื้นที่ชายฝั่งทะเลตะวันออก 3 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ถูกกำหนดไว้ในแผนพัฒนาให้เป็นเขตอุตสาหกรรมของประเทศ ส่งผลกระทบต่อการปรับปรุงและพัฒนาการศึกษา สถานศึกษา และกระบวนการทางการศึกษาให้สอดคล้องกับสังคมที่เปลี่ยนไป โดยมุ่งเน้นสาขาที่สัมพันธ์กับการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม ทำให้เกิดปัญหาในการพัฒนาภูมิภาคด้านกำลังคนที่ไม่สมดุลในแต่ละสาขา ปัญหาการประสานงานไม่สัมพันธ์กันของภูมิภาคกับส่วนกลาง ปัญหาสังคม ปัญหาสิ่งแวดล้อมในภูมิภาคตามมา ดังนั้นการกำหนดและดำเนินนโยบายของรัฐบาลต้องคำนึงถึงปัจจัยพื้นฐานด้านภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ การเมือง สังคมวัฒนธรรม และเศรษฐกิจ ของภูมิภาคให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาด้วย เพื่ออำนวยให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาภูมิภาคอย่างเหมาะสมโดยตรง