Abstract:
การศึกษากลวิธีการปรับบทแปลของบุษกร สุริยสารในการแปลหนังสือสารคดีเรื่อง “รอยพระยุคลบาท” บันทึกความทรงจำของ พล.ต.อ. วสิษฐ เดชกุญชร จากภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษเรื่อง “In His Majesty’s Footsteps” A Personal Memoir: Vasit Dejkunjorn มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากลวิธีการแปลระดับคำและระดับสำนวนในการแปลสารคดีจากภาษาไทยเป็นภาษาอังกฤษ เนื่องจากเป็นหนังสือที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับสังคมและวัฒนธรรมไทยเป็นอย่างมากจึงต้องอาศัยกลวิธีการปรับบทแปลเพื่อช่วยให้ผู้รับสารสามารถรับสารได้อย่างครบถ้วน โดยการศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยเอกสารและวิเคราะห์เชิงเนื้อหา
ผลการศึกษาพบว่าบุษกร สุริยสารใช้กลวิธีการปรับบทแปลในระดับคำโดยการใช้ 1) การใช้คำยืมเป็นการใช้ร่วมกับคำขยายความซึ่งได้แก่การใช้คำยืมร่วมกับการใช้คำจำแนกประเภทอย่างกว้างๆ การใช้คำยืมประกอบกับคำจำแนกประเภทอย่างกว้างๆ และคำขยายบอกหน้าที่หรือวัตถุประสงค์ การใช้คำยืมและเพิ่มวงเล็บเพื่อให้คำจำกัดความ และการใช้คำยืมโดยตรง 2) การใช้คำจำแนกประเภทอย่างกว้างๆ เป็นการแปลที่ผู้แปลใช้การเทียบเคียงคำศัพท์ที่ให้ความหมายอย่างกว้างๆ โดยมีการเพิ่มส่วนขยายลงไปเพื่อช่วยสร้างความหมายให้ผู้รับสาร จากการศึกษาพบวิธีการใช้คำจำแนกประเภทอย่างกว้างๆดังนี้ การใช้คำจำแนกประเภทอย่างกว้างๆ แล้วขยายความด้วยการบอกลักษณะสัณฐาน การใช้คำจำแนกประเภทอย่างกว้างๆ แล้วขยายด้วยการบอกหน้าที่ 3) การใช้การแทนที่ด้วยสิ่งที่ปรากฏในวัฒนธรรมของภาษาแปล เป็นกลวิธีการแปลที่ผู้แปลใช้ในการอ้างอิงถึงสิ่งของหรือแนวคิดที่ปรากฏอยู่ในต้นฉบับ โดยผู้แปลแทนที่คำนั้นๆ ด้วยสิ่งที่มีอยู่ในวัฒนธรรมของภาษาฉบับแปลซึ่งเป็นคำที่ทำให้บทแปลสามารถสื่อสารถึงผู้รับสารได้อย่างตรงตามต้นฉบับเพราะการใช้การแทนที่ เป็นการเลือกใช้คำที่อ้างอิงถึงลักษณะ หรือหน้าที่เดียวกันมาแทนที่