Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) สร้างกิจกรรมการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ทางคณิตศาสตร์ตาม Model-Eliciting Activities 2) เปรียบเทียบความคิดสร้างสรรค์ทางคณิตศาสตร์ก่อนกับหลังการทดลองในกลุ่มที่ได้รับการฝึกด้วยกิจกรรมการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ทางคณิตศาสตร์ตาม Model-Eliciting Activities และ 3) เปรียบเทียบความคิดสร้างสรรค์ทางคณิตศาสตร์หลังการทดลองระหว่างกลุ่มตัวอย่าง กลุ่มตัวอย่าง เป็นนักเรียนโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย ชลบุรี และโรงเรียนชลราษฎรอำรุง จำนวน 72 คน แบ่งเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มละ 24 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ กิจกรรมการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ทางคณิตศาสตร์ แบบวัดระดับเชาว์ปัญญา แบบวัดความคิดสร้างสรรค์ และแบบวัดความคิดสร้างสรรค์ทางคณิตศาสตร์ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน สถิติทดสอบที (t-test) และการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One Way ANOVA) ผลการวิจัยปรากฏว่า 1) กิจกรรมการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ทางคณิตศาสตร์ตาม Model-Eliciting Activities มี 6 ขั้นตอน คือ 1. Model-construction principle 2. Reality principle 3. Self-assessment principle 4. Model-documentation principle 5. Shared-ability and Reusability principle และ 6. Effective prototype principle 2) นักเรียนกลุ่มที่ได้รับการฝึกด้วยกิจกรรมการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ทางคณิตศาสตร์ตาม Model-Eliciting Activities มีความคิดสร้างสรรค์ทางคณิตศาสตร์สูงกว่าก่อนได้รับการฝึกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และ 3) นักเรียนกลุ่มที่ได้รับการฝึกด้วยกิจกรรมการพัฒนาความคิดสร้างสรรค์ทางคณิตศาสตร์ตาม Model-Eliciting Activities มีความคิดสร้างสรรค์ทางคณิตศาสตร์สูงกว่ากลุ่มที่ได้รับการฝึกด้วยกิจกรรมอื่นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05