Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อออกแบบกิจกรรมการทดลองการมองรูปภาพที่เร้าอารมณ์ด้านการมีอิทธิพลในผู้ใหญ่ตอนต้น และศึกษาอารมณ์ด้านการมีอิทธิพลเชิงพฤติกรรมและคลื่นไฟฟ้าสมองขณะทำกิจกรรมการมองรูปภาพ จำแนกตามเพศและบุคลิกภาพ กลุ่มตัวอย่างเป็นนิสิตระดับ ปริญญาตรี มหาวิทยาลัยบูรพา จำนวน 80 คน ที่กำลังเรียนอยู่ในปีการศึกษา 2560 เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ กิจกรรมการทดลองการมองรูปภาพที่เร้าอารมณ์ด้านการมีอิทธิพล เครื่องบันทึกไฟฟ้าสมองระบบ Neuroscan และมาตรวัดอารมณ์ความรู้สึก (SAM) วิเคราะห์ข้อมูลด้วย ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสถิติการวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบสองทาง ผลการวิจัยปรากฏว่า 1. กิจกรรมการทดลองการมองรูปภาพที่เร้าอารมณ์ด้านการมีอิทธิพลในผู้ใหญ่ตอนต้น ประกอบด้วย กิจกรรม 3 ชุด ตามลักษณะอารมณ์ด้านการมีอิทธิพล คือ เฉย ๆ ไม่กลัว และ กลัว 2. ผลการวัดด้านพฤติกรรม แสดงให้เห็นว่า การมองรูปภาพที่เร้าอารมณ์ด้านการมีอิทธิพล ในลักษณะกลัว มีค่าเฉลี่ยคะแนนแตกต่างกันระหว่างบุคลิกภาพแบบเปิดเผยและแบบกลาง ๆ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 3. ผลการวัดด้านคลื่นไฟฟ้าสมอง พบว่า ขณะมองรูปภาพที่เร้าอารมณ์ด้านการมีอิทธิพล ในลักษณะไม่กลัว คลื่นไฟฟ้าสมอง P100 มีความแตกต่างกันระหว่างบุคลิกภาพเปิดเผยและแบบ กลาง ๆ ที่ตำแหน่ง FC4 ในขณะที่คลื่นไฟฟ้าสมอง N170 พบความแตกต่างระหว่างเพศชายและ เพศหญิง ที่ตำแหน่ง PO7 ส่วนการมองรูปภาพที่เร้าอารมณ์ด้านการมีอิทธิพล ในลักษณะกลัว พบความแตกต่างของของคลื่นไฟฟ้าสมอง P100 ที่ตำแหน่ง O1 ในขณะที่ทั้งคลื่นไฟฟ้าสมอง N170 พบความแตกต่างระหว่างเพศชายและเพศหญิง ที่ตำแหน่ง FCz