Abstract:
การศึกษาในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์ 4 ประการคือ 1. เพื่อการศึกษารูปแบบการจัดการปัญหาอาชญากรรมของสถานีตำรวจภูธรเมืองพัทยา 2. เพื่อศึกษาผลการจัดการปัญหาอาชญากรรมของสถานีตำรวจภูธรเมืองพัทยา 3. เพื่อศึกษาปัญหาและอุปสรรคในการจัดการปัญหาอาชญากรรมของสถานีตำรวจภูธรเมืองพัทยา 4. เพื่อเสนอรูปแบบการจัดการปัญหาอาชญากรรมที่เหมาะสมกับเมืองพัทยา ใช้วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพในการเก็บรวบรวม กลุ่มตัวอย่างที่ศึกษาได้แก่ เจ้าหน้าที่ตำรวจของสถานีภูธรเมืองพัทยาที่ทำงานอยู่ในระหว่างปี พ.ศ. 2553-2554 และตัวแทนประชาชนจาก เขตพื้นที่รับผิดชอบ 11 ชุมชนที่ยินดีให้ข้อมูล วิธีการสุ่มตัวอย่างใช้วิธีการแบบเจาะจง (Purposive Sampling) การคัดเลือกผู้ทำการสนทนาจะใช้วิธีการขอคำแนะนำ (Snow ball) จากเจ้าหน้าที่ตำรวจ
ผลการศึกษาพบว่า 1. สถานีตำรวจภูธรเมืองพัทยารูปแบบการจัดการแบบเป็นระบบ 2. ผลการจัดการปัญหาอาชญากรรมของสถานีตำรวจภูธรเมืองพัทยาในช่วงปี พ.ศ. 2553-2554 สถานีตำรวจภูธรเมืองพัทยาสามารถจัดการปัญหาอาชญากรรมได้ดีขึ้น 3. ปัญหาและอุปสรรคในการจัดการปัญหาอาชญากรรมของสถานีตำรวจภูธรเมืองพัทยาคือ วัฒนธรรมองค์กร การขาดแคลนทรัพยากร ระบบการรวมศูนย์อำนาจ ระบบการเมือง ระบบอุปถัมภ์ ความคาดหวังและทัศนคติของประชาชนทีมีต่อตำรวจ 4. รูปแบบการจัดการปัญหาอาชญากรรมที่เหมาะสมกับเมืองพัทยา คณะผู้วิจัยได้เสนอรูปแบบการจัดการปัญหาอาชญากรรมที่เหมาะสมกับเมืองพัทยา คือ “Clear & Smart” หรือ “ชัดในบทบาท ฉลาดในการจัดการ” Clear หมายถึง ความชัดเจนในบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบชองตำรวจ ชุมชน และภาคส่วนต่างๆ Smart หมายถึง ความฉลาดและความสามารถในการจัดกระบวนการบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วมที่คำนึงถึงคุณค่าและศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์