Abstract:
การปฏิรูปการเรียนรู้ให้บรรลุผลสำเร็จได้นั้น ต้องเริ่มต้นที่การปฏิรูปชั้นเรียน ครูผู้สอนต้องเริ่มต้นจากการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการเรียนรู้ในชั้นเรียนแบบดั้งเดิมไปเป็นแบบใหม่ การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ1) วิเคราะห์เปรียบเทียบวัฒนธรรมการเรียนรู้ในชั้นเรียนแบบดั้งเดิมกับวัฒนธรรมการเรียนรู้ในชั้นเรียนแบบใหม่ใน 5 ประเด็น คือ (1) เจตคติและพฤติกรรมของครู (2) เจตคติและพฤติกรรมของนักเรียน (3) ปฏิสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียน (4) ปฏิสัมพันธ์ระหว่างนักเรียนกับนักเรียน และ (5) บรรยากาศในชั้นเรียน 2) สังเคราะห์กระบวนการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการเรียนรู้ในชั้นเรียนตามแนวการประเมินเพื่อพัฒนาผู้เรียน และ 3) เพื่อศึกษาผลของการใช้กระบวนการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการเรียนรู้ในชั้นเรียน กลุ่มเป้าหมายเป็นครูและนักเรียนโรงเรียนบ้านเกาะแก้วจังหวัดสุรินทร์ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2560 ในชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 และปีที่ 4เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ วีดิทัศน์ แบบสัมภาษณ์ วิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ โดยการวิเคราะห์เนื้อหาและวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณด้วยค่าเฉลี่ยส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และร้อยละ ผลการวิจัยปรากฏ ดังนี้ 1. ผลการวิเคราะห์เปรียบเทียบวัฒนธรรมการเรียนรู้ในชั้นเรียน ชี้ให้เห็นว่าวัฒนธรรมการเรียนรู้ในชั้นเรียนแบบดั้งเดิม 1) ครูเน้นการถ่ายทอดความรู้ให้นักเรียน 2) นักเรียนท่องจำความรู้ 3) นักเรียนไม่กล้าแสดงความคิดเห็น ไม่กล้าถามครู 4) นักเรียนไม่มีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน และ 5) ชั้นเรียนมีแต่ความเครียดส่วนวัฒนธรรมการเรียนรู้ในชั้นเรียนแบบใหม่ 1) ครูเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ 2) นักเรียนสร้างองค์ความรู้ด้วยการลงมือปฏิบัติ 3) นักเรียนกล้าซักถามครู 4) มีการเรียนรู้ร่วมกันในการเรียน และ 5)ชั้นเรียนมีความอบอุ่น นักเรียนมีความสุขในการเรียน 2. ผลการสังเคราะห์กระบวนการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการเรียนรู้ในชั้นเรียน พบว่ามี 6 ขั้นตอน ได้แก่ 1) สร้างแรงบันดาลใจผู้บริหาร 2) ปรับเปลี่ยนเจตคติของครูและนักเรียนต่อการเรียนรู้ 3) ใช้กระบวนการเรียนรู้ที่บูรณาการกับการประเมินเพื่อพัฒนาผู้เรียน 4) กำกับ ติดตาม และชี้แนะ 5) จัดกิจกรรมชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ และ 6) ถอดบทเรียน โดยมีภาวะผู้นำของผู้บริหารเป็นตัวขับเคลื่อน 3. ผลของการใช้กระบวนการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมการเรียนรู้ในชั้นเรียน พบว่ากระบวนการ 6 ขั้นตอน สามารถนำไปใช้ได้จริง นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 มีผลการเรียนรู้ในระดับดีคิดเป็นร้อยละ 81.37 และชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 คิดเป็นร้อยละ 85.11 พฤติกรรมการสอนของครูเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่เคยบอกความรู้มาเป็นผู้ออกแบบการจัดกิจกรรมและอำนวยความสะดวกในการเรียนรู้มีการกำหนดเป้าหมายการเรียนรู้เกณฑ์ความสำเร็จให้ข้อมูลป้อนกลับกับนักเรียน ทำให้นักเรียนสามารถปรับปรุงผลงานได้อย่างมีคุณภาพ ส่วนพฤติกรรมการเรียนของนักเรียนมีการเปลี่ยนแปลง นักเรียนได้ลงมือปฏิบัติกิจกรรมด้วยกระบวนการกลุ่ม มีความกระตือรือร้นในการเรียนได้ประเมินผลงานตนเอง และประเมินผลงานเพื่อนโดยอาศัยเกณฑ์มีการปรับปรุงผลงานอยู่ตลอดเวลากล้าซักถามครูและเพื่อนมากขึ้นได้ช่วยเหลือเพื่อนในการเรียน นักเรียนเก่งมีความภาคภูมิใจที่ได้อธิบายให้เพื่อนที่เรียนอ่อนฟังจนเข้าใจ