Abstract:
การประเมินภาวะซึมเศร้าที่ผ่านมามีข้อจำกัดทั้งในประเด็นเรื่องความไม่สอดคล้องกับทฤษฎีหลักในทุกมิติ และขาดความสามารถในการประเมินกระบวนการทางปัญญาที่เกี่ยวเนื่องกับภาวะซึมเศร้าอย่างเฉพาะเจาะจง การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ประเมินภาวะซึมเศร้าแบบพหุกิจกรรม (Multitask) ร่วมกับการวัดคลื่นไฟฟ้าสมองสำหรับวัยรุ่นไทย เพื่อพัฒนาแบบประเมินภาวะซึมเศร้าของเบค (BDI-II) ฉบับภาษาไทย และเปรียบเทียบคลื่นไฟฟ้าสมองขณะทำโปรแกรมคอมพิวเตอร์ประเมินภาวะซึมเศร้าแบบพหุกิจกรรมของวัยรุ่นผู้มีภาวะซึมเศร้า 3 ระดับ กลุ่มตัวอย่างเป็นอาสาสมัครวัยรุ่นผู้มีภาวะซึมเศร้าคัดกรองจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลอ่างศิลา จังหวัดชลบุรี อายุ 13-22 ปี จำนวน 88 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบประเมินภาวะซึมเศร้าของเบค (BDI-II) ฉบับภาษาไทย และเครื่องบันทึกเครื่องไฟฟ้าสมอง Neuroscan วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติ ANOVA สัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบเพียร์สัน และการวิเคราะห์เครือข่ายคลื่นไฟฟ้าสมอง ผลการวิจัยปรากฏว่า 1. โปรแกรมคอมพิวเตอร์ประเมินภาวะซึมเศร้าแบบพหุกิจกรรม ประกอบด้วย 4 ตอน ได้แก่ ตอนที่ 1 MUTE1 (F) ตอนที่ 2 MUTR2 (F) ตอนที่ 3 MUTE3 (W) และตอนที่ 4 MUTR4 (W). โปรแกรมคอมพิวเตอร์ได้รับการประเมินโดยผู้เชี่ยวชาญและมีความเหมาะสมสำหรับการใช้งาน 2. แบบประเมินภาวะซึมเศร้าของเบค (BDI-II) ฉบับภาษาไทยที่พัฒนาขึ้น มีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ .82 3. ค่าเฉลี่ยความสูงและความกว้างของศักย์ไฟฟ้าสมองสัมพันธ์กับเหตุการณ์ P100 N200 และP300 ปรากฏว่า บริเวณสมองส่วนหน้า ส่วนกลาง และสมองส่วนท้ายทอย ณ ตำแหน่ง F3 P3 P4 C3 C4 และ O1 ของกลุ่มภาวะซึมเศร้าแต่ละระดับแตกต่างกัน 4. เครือข่ายการทำงานของสมองของกลุ่มแตกต่างกัน โดยกลุ่มภาวะซึมเศร้าระดับน้อยที่สุด มีพลังงานคลื่นไฟฟ้าสมองระดับมากที่สุดกระจายไปทั่วทุกบริเวณ กลุ่มซึมเศร้าน้อยมีพลังงานคลื่นไฟฟ้าสมองระดับมากที่สุดบริเวณท้ายทอย ส่วนกลุ่มภาวะซึมเศร้าปานกลางมีพลังงานคลื่นไฟฟ้าสมองระดับมากที่สุดบริเวณสมองส่วนหน้า