Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อออกแบบกิจกรรมการทดลองมองคำภาษาไทยที่เร้าอารมณ์ด้านการตื่นตัวในผู้ใหญ่ตอนต้น ศึกษาอารมณ์ด้านการตื่นตัวในเชิงพฤติกรรม คลื่นไฟฟ้าสมองสัมพันธ์กับเหตุการณ์ และเครือข่ายการเชื่อมโยงการทำงานของสมอง ขณะมองคำภาษาไทยที่เร้าอารมณ์ด้านการตื่นตัว จำแนกตามเพศและบุคลิกภาพ กลุ่มตัวอย่างเป็นนิสิตของมหาวิทยาลัยบูรพาปีการศึกษา 2560จำนวน 80 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ กิจกรรมการทดลองมองคำภาษาไทยที่เร้าอารมณ์ด้านการตื่นตัว มาตรวัดอารมณ์ความรู้สึกด้านการตื่นตัวและเครื่องบันทึกคลื่นไฟฟ้าสมอง NeuroScanวิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติ Two-way ANOVA ผลการวิจัยปรากฏว่า 1. กิจกรรมการทดลองมองคำภาษาไทยที่เร้าอารมณ์ด้านการตื่นตัวในผู้ใหญ่ตอนต้น ประกอบด้วย กิจกรรม 2 ชุด ชุดละ 30 สิ่งเร้า สิ่งเร้าละ 1.5 วินาที จำแนกตามลักษณะอารมณ์ คือ ลักษณะสงบ และลักษณะตื่นเต้น 2. ผู้ใหญ่ตอนต้นที่มีบุคลิกภาพเปิดเผยมีอารมณ์ด้านการตื่นตัว ลักษณะตื่นเต้น มากกว่าบุคลิกภาพกลาง ๆ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 3. คลื่นไฟฟ้าสมองในผู้ใหญ่ตอนต้น ขณะมองคำภาษาไทยที่เร้าอารมณ์ด้านการตื่นตัว ลักษณะสงบ และลักษณะตื่นเต้น ระหว่างเพศชายกับเพศหญิงแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ที่บริเวณเปลือกสมองส่วนหน้า ที่ตำแหน่ง FP1 FPZ FP2 F1 FZ บริเวณเปลือกสมองส่วนกลาง ที่ตำแหน่ง C2 CPZ CP2 CP4 บริเวณเปลือกสมองด้านข้าง ที่ตำแหน่ง PZ P2 P4 และบริเวณเปลือกสมองส่วนท้ายทอย ที่ตำแหน่ง POZ ระหว่างผู้ที่มีบุคลิกภาพเปิดเผยกับกลาง ๆ แตกต่างกันที่บริเวณเปลือกสมองด้านข้าง ที่ตำแหน่ง P3 P4 และบริเวณเปลือกสมองส่วนท้ายทอยที่ตำแหน่ง PO5 PO8 4. ผู้ใหญ่ตอนต้นที่มีบุคลิกภาพกลาง ๆ มีเครือข่ายการเชื่อมโยงการทำงานของสมองมากกว่าบุคลิกภาพเปิดเผย ขณะมองคำภาษาไทยที่เร้าอารมณ์ด้านการตื่นตัว ลักษณะตื่นเต้น