Abstract:
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) วิเคราะห์ปริมาณการใช้ไฟฟ้าของโรงเรียนในสังกัดเมืองพัทยาในปี พ.ศ. 2555-2560 2) เปรียบเทียบประสิทธิภาพของผลการวิเคราะห์ปริมาณการใช้ไฟฟ้า ในปี พ.ศ. 2555-2560 ระหว่างตัวแบบ SARIMA กับตัวแบบ SARIMAX และ 3) พยากรณ์ปริมาณ การใช้ไฟฟ้าของโรงเรียนในสังกัดเมืองพัทยาในปี พ.ศ. 2561-2565 ข้อมูลที่ใช้ในการวิจัย คือ ปริมาณการใช้ไฟฟ้ารายเดือนของโรงเรียนในสังกัดเมืองพัทยา ตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2555 ถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2560 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรม Minitab ด้วยตัวแบบ SARIMA และใช้โปรแกรม SPSS ด้วยตัวแบบ SARIMAX ผลการวิจัยปรากฏว่า 1) ปริมาณการใช้ไฟฟ้าตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2555 ถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2560 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยช่วงที่มีปริมาณการใช้ไฟฟ้าสูงสุดคือ เดือนกันยายน และต่ำสุดคือ เดือนเมษายนของทุกปี 2) ประสิทธิภาพของผลการวิเคราะห์ปริมาณการใช้ไฟฟ้า ในปี พ.ศ. 2555-2560 ระหว่างตัวแบบ SARIMA กับตัวแบบ SARIMAX มีประสิทธิภาพไม่แตกต่างกัน และ 3) ผลการพยากรณ์ปริมาณการใช้ไฟฟ้าตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2561 ถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2565 ด้วยตัวแบบ SARIMA (0,1,1) (0,1,1)12 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ค่าพยากรณ์ปริมาณการใช้ไฟฟ้าเมื่อสิ้นปี พ.ศ. 2565 มีค่าประมาณ 4,137,752 กิโลวัตต์-ชั่วโมง เพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2560 เฉลี่ยปีละ 193,341 กิโลวัตต์-ชั่วโมง ในเดือนกันยายน พ.ศ. 2565 จะมีปริมาณการใช้ไฟฟ้าสูงสุดที่ 431,315 กิโลวัตต์-ชั่วโมง และเดือนเมษายน พ.ศ. 2565 จะมีปริมาณการใช้ไฟฟ้าต่ำสุดที่ 213,574 กิโลวัตต์-ชั่วโมง โดยมีค่า RMSE เท่ากับ 20091.242 ค่า MAPE เท่ากับ 7.903 และมีค่าประสิทธิภาพในการพยากรณ์ (R2) เท่ากับ ร้อยละ 91.3