Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อออกแบบกิจกรรมการทดลองฟังเสียงดิจิทัลที่เร้าอารมณ์ด้านการมีอิทธิพลในผู้ใหญ่ตอนต้นศึกษาอารมณ์ด้านการมีอิทธิพลในเชิงพฤติกรรม คลื่นไฟฟ้าสมอง และเครือข่ายการเชื่อมโยงการทำงานของสมอง ขณะฟังเสียงดิจิทัลที่เร้าอารมณ์ด้านการมีอิทธิพลจำแนกตามเพศและบุคลิกภาพ กลุ่มตัวอย่างเป็นนิสิตระดับปริญญาตรีมหาวิทยาลัยบูรพาปีการศึกษา 2560 จำนวน 80 คน เครื่องมือที่ใช้การวิจัยประกอบด้วย กิจกรรมการทดลองฟังเสียงดิจิทัลที่เร้าอารมณ์ด้านการมีอิทธิพลในผู้ใหญ่ตอนต้น มาตรวัดอารมณ์ความรู้สึกด้านการมีอิทธิพล และเครื่องบันทึกคลื่นไฟฟ้าสมอง วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติ two-way ANOVA ผลการวิจัยปรากฏว่า 1. กิจกรรมการทดลองฟังเสียงดิจิทัลที่เร้าอารมณ์ด้านการมีอิทธิพลในผู้ใหญ่ตอนต้น ประกอบด้วย กิจกรรม 2 ชุด ชุดละ 12 สิ่งเร้า สิ่งเร้าละ 26 วินาที จำแนกตามลักษณะอารมณ์ คือ ลักษณะกลัว และลักษณะไม่กลัว 2. ผู้ใหญ่ตอนต้นที่มีเพศและบุคลิกภาพต่างกัน มีอารมณ์ด้านการมีอิทธิพลลักษณะกลัว และลักษณะไม่กลัวไม่ต่างกัน และไม่มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างเพศกับบุคลิกภาพ ขณะฟังเสียงดิจิทัลที่เร้าอารมณ์ด้านการมีอิทธิพลลักษณะกลัว และลักษณะไม่กลัว 3. คลื่นไฟฟ้าสมองของผู้ใหญ่ตอนต้นขณะฟังเสียงดิจิทัลที่เร้าอารมณ์ด้านการมีอิทธิพลลักษณะกลัว และลักษณะไม่กลัวระหว่างเพศชายกับเพศหญิงแตกต่างกันที่บริเวณเปลือกสมองส่วนหน้า (Frontal Lobe) ที่ตำแหน่ง F7 และบริเวณเปลือกสมองกลาง (Central) ตำแหน่ง CZ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ระหว่างผู้ที่มีบุคลิกภาพเปิดเผยกับกลาง ๆ แตกต่างกันที่บริเวณเปลือกสมองส่วนหน้า (Frontal Lobe) ที่ตำแหน่ง F7 บริเวณเปลือกสมองส่วนบน (Parietal Lobe) ที่ตำแหน่ง PZ P7 P4 และบริเวณเปลือกสมองกลาง (Central) ที่ตำแหน่ง CZ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 4. เครือข่ายการเชื่อมโยงการทำงานของสมองของผู้ใหญ่ตอนต้นขณะฟังเสียงดิจิทัลที่เร้าอารมณ์ด้านการมีอิทธิพล ลักษณะกลัว เพศหญิงมีความหนาแน่นของเครือข่ายมากกว่าเพศชาย มีการเชื่อมโยงระหว่างโหนดสั้นกว่า มีประสิทธิภาพเครือข่ายเท่ากับเพศชาย ลักษณะไม่กลัว เพศชายมีความหนาแน่นของเครือข่ายมากกว่าเพศหญิง มีการเชื่อมโยงระหว่างโหนดสั้นกว่า มีประสิทธิภาพเครือข่ายดีกว่าเพศหญิง