Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อออกแบบกิจกรรมการทดลองมองคำภาษาไทยและรูปภาพที่เร้าอารมณ์ด้านการตื่นตัวในผู้ใหญ่ตอนต้น ศึกษาอารมณ์ด้านการตื่นตัวในเชิงพฤติกรรม คลื่นไฟฟ้าสมอง และเครือข่ายการเชื่อมโยงการทำงานของสมอง ขณะมองคำภาษาไทยและรูปภาพที่เร้าอารมณ์ด้านการตื่นตัว จำแนกตามเพศและบุคลิกภาพ กลุ่มตัวอย่างเป็นนิสิตระดับปริญญาตรี มหาวิทยาลัยบูรพา ปีการศึกษา 2560 จำนวน 80 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วยกิจกรรมการทดลองมองคำภาษาไทยและรูปภาพที่เร้าอารมณ์ มาตรวัดอารมณ์ความรู้สึกด้านการตื่นตัว และเครื่องบันทึกคลื่นไฟฟ้าสมอง วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติ two-way ANOVA ผลการวิจัยปรากฏว่า 1. กิจกรรมการทดลองมองคำภาษาไทยและรูปภาพที่เร้าอารมณ์ด้านการตื่นตัวในผู้ใหญ่ตอนต้น ประกอบด้วย กิจกรรม 2 ชุด ชุดละ 12 สิ่งเร้า สิ่งเร้าละ 21 วินาที จำแนกตามลักษณะอารมณ์ คือ ลักษณะสงบและลักษณะตื่นเต้น 2. ผู้ใหญ่ตอนต้นที่มีเพศและบุคลิกภาพต่างกัน มีอารมณ์ด้านการตื่นตัวลักษณะสงบ และลักษณะตื่นเต้นไม่ต่างกัน และไม่มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างเพศกับบุคลิกภาพ ขณะมองคำภาษาไทยและรูปภาพที่เร้าอารมณ์ด้านการตื่นตัว ลักษณะสงบ และลักษณะตื่นเต้น 3. คลื่นไฟฟ้าสมองของผู้ใหญ่ตอนต้นขณะมองคำภาษาไทยและรูปภาพที่เร้าอารมณ์ ด้านการตื่นตัว ลักษณะสงบ และลักษณะตื่นเต้น จำแนกตามเพศและบุคลิกภาพ แตกต่างกันที่บริเวณเปลือกสมองส่วนหน้า (Frontal Lobe) ที่ตำแหน่ง FP1 FPZ FP2 FC5 F3 FZ FCZ และ FC6 บริเวณเปลือกสมองส่วนบน (Parietal Lobe) ที่ตำแหน่ง P7 P3 PO4 PZ PO3 PZ CPZ CZ C4 C3 CP4 P4 และ CP3 บริเวณเปลือกสมองกลีบขมับ (Temporal lobe) ที่ตำแหน่ง T7 และ T8 บริเวณเปลือกสมองส่วนท้ายทอย (Occipital lobe)ที่ตำแหน่ง O1 และ O2 4. เครือข่ายการเชื่อมโยงการทำงานของสมองในผู้ใหญ่ตอนต้นขณะมองคำภาษาไทยและรูปภาพที่เร้าอารมณ์ด้านการตื่นตัวลักษณะสงบ เพศชายมีความหนาแน่นของเครือข่ายไม่ต่างจากเพศหญิง แต่มีการเชื่อมโยงระหว่างโหนดมากกว่าเพศหญิง และประสิทธิภาพของเครือข่ายเพศหญิงดีกว่าเพศชายลักษณะตื่นเต้นเพศหญิงมีความหนาแน่นของเครือข่ายมากกว่าเพศชาย มีการเชื่อมโยงระหว่างโหนดสั้นกว่า และมีประสิทธิภาพของเครือข่ายดีกว่าเพศชาย