Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อออกแบบกิจกรรมการทดลองมองข้อความภาษาไทยที่เร้าอารมณ์ด้านการตื่นตัวในผู้ใหญ่ตอนต้น ศึกษาอารมณ์ด้านการตื่นตัวในเชิงพฤติกรรม คลื่นไฟฟ้าสมอง และเครือข่ายการเชื่อมโยงการทำงานของสมอง ขณะมองข้อความภาษาไทยที่เร้าอารมณ์ด้านการตื่นตัว จำแนกตามเพศและบุคลิกภาพ กลุ่มตัวอย่างเป็นนิสิตระดับปริญญาตรี มหาวิทยาลัยบูรพา ปีการศึกษา 2561 จำนวน 80 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย กิจกรรมการทดลองมองข้อความภาษาไทยที่เร้าอารมณ์ด้านการตื่นตัวในผู้ใหญ่ตอนต้น มาตรวัดอารมณ์ความรู้สึกด้านการตื่นตัว และเครื่องบันทึกคลื่นไฟฟ้าสมอง วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติ Two-way ANOVA ผลการวิจัยปรากฏว่า 1. กิจกรรมการทดลองมองข้อความภาษาไทยที่เร้าอารมณ์ด้านการตื่นตัวในผู้ใหญ่ตอนต้นประกอบด้วย กิจกรรม 2 ชุด ชุดละ 15 สิ่งเร้า สิ่งเร้าละ 13 วินาที จำแนกตามลักษณะอารมณ์ คือ ลักษณะสงบ และลักษณะตื่นเต้น 2. ผู้ใหญ่ตอนต้นที่มีบุคลิกภาพเปิดเผย มีอารมณ์ด้านการตื่นตัว ลักษณะสงบ มากกว่าบุคลิกภาพกลาง ๆ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างเพศกับบุคลิกภาพขณะมองข้อความภาษาไทยที่เร้าอารมณ์ด้านการตื่นตัว ลักษณะตื่นเต้น อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 3. คลื่นไฟฟ้าสมองของผู้ใหญ่ตอนต้น ขณะมองข้อความภาษาไทยที่เร้าอารมณ์ด้านการตื่นตัว ลักษณะสงบ และ ลักษณะตื่นเต้น ระหว่างเพศชายกับเพศหญิง แตกต่างกันที่บริเวณเปลือกสมองส่วนท้ายทอย ที่ตำแหน่ง PO3 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ระหว่างผู้ที่มีบุคลิกภาพเปิดเผยกับบุคลิกภาพกลาง ๆ แตกต่างกันที่บริเวณเปลือกสมองส่วนหน้า ที่ตำแหน่ง FP1 FPZ FP2 AF3 AF4 F7 F3 FZ F4 F8 FC3 FCZ และ FC4 บริเวณเปลือกสมองส่วนบน ที่ตำแหน่ง C3 CZ C4 CP3 CPZ CP4 P3 และ PZ บริเวณเปลือกสมองส่วนขมับ ที่ตำแหน่ง T7 และ T8 และบริเวณเปลือกสมองส่วนท้ายทอย ที่ตำแหน่ง PO3 POZ O1 และ OZ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างเพศกับบุคลิกภาพที่บริเวณเปลือกสมองส่วนบน ที่ตำแหน่ง P3 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 4. เครือข่ายการเชื่อมโยงการทำงานของสมองในผู้ใหญ่ตอนต้นขณะมองข้อความภาษาไทยที่เร้าอารมณ์ด้านการตื่นตัว ลักษณะสงบ เพศหญิงมีความหนาแน่นของเครือข่ายมากกว่าเพศชาย ลักษณะตื่นเต้น เพศชายมีความหนาแน่นของเครือข่ายมากกว่าเพศหญิง