Abstract:
การวิจัยนี้เป็นการวิจัยและพัฒนามีวัตถุประสงค์ เพื่อวิเคราะห์สมรรถภาพ และความต้องการจำเป็นของครูในเรื่องการเสริมสร้างสมรรถภาพการบริหารการจัดการสอนของครูระดับอาชีวศึกษา เพื่อพัฒนาหลักสูตรเสริมสร้างสมรรถภาพการบริหารการจัดการสอนของครูระดับอาชีวศึกษา และเพื่อศึกษาผลการใช้หลักสูตรเพื่อเสริมสร้างสมรรถภาพการบริหารการจัดการสอนของครูระดับอาชีวศึกษา หลักสูตรที่พัฒนาขึ้นใช้การฝึกอบรมครูเป็นเวลา 30 ชั่วโมง มีการสอบวัดสมรรถภาพการบริหารการจัดการสอนก่อนและหลัง และการติดตามหลังการฝึกอบรม 1 เดือน เพื่อรับทราบผลพัฒนาการและ ความคงทนความรู้ของกลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ ความรู้ เจตคติ และทักษะ กลุ่มตัวอย่าง เป็นครูสังกัดสถาบัน การอาชีวศึกษา มี 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ใช้ประเมินความต้องการจำเป็น และกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ทดลองใช้หลักสูตร จำนวน 30 คน ได้มาโดยการสุ่มและการเลือกแบบสมัครใจ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยมี 4 ฉบับ ได้แก่ แบบประเมินความต้องการจำเป็น แบบทดสอบความรู้ แบบวัดเจตคติ และแบบประเมินทักษะ เครื่องมือ ทั้ง 4 ฉบับมีความตรงเชิงเนื้อ และความเชื่อมั่นสูง การวิเคราะห์ข้อมูลใช้การวิเคราะห์สถิติบรรยาย ได้แก่ ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน คะแนนพัฒนาการสัมพัทธ์และการวิเคราะห์เนื้อหา ผลการวิจัย พบว่า 1. ความต้องการจำเป็นของครูในเรื่องการส่งเสริมสมรรถภาพการบริหารการจัดการสอนของครูระดับอาชีวศึกษา ภาคตะวันออก ได้แก่ การเตรียมแผนการสอน การบริหารจัดการชั้นเรียน การจัดการ การเรียนรู้ เทคโนโลยีสารสนเทศทางการศึกษา การสอดแทรกด้านศีลธรรมและจริยธรรม การทำวิจัยใน ชั้นเรียน และการวัดและประเมินผลการเรียนรู้ 2. หลักสูตรส่งเสริมสมรรถภาพการบริหารการจัดการสอนของครูระดับอาชีวศึกษา ประกอบด้วย หลักการ จุดมุ่งหมาย เนื้อหาสาระ การเรียนรู้ กิจกรรมการเรียนการสอน สื่อการเรียนการสอนและการวัดผล โดยผลการประเมินหลักสูตรโดยผู้เชี่ยวชาญ พบว่า หลักสูตรมีความเหมาะสมและสามารถนำไปใช้ได้จริง 3. ผลการทดลองใช้หลักสูตรเสริมสร้างสมรรถภาพการบริหารการจัดการสอนของครูระดับอาชีวศึกษา พบว่า ความรู้และเจตคติเกี่ยวกับสมรรถภาพการบริหารการจัดการสอนของครู มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์สามารถพัฒนากลุ่มตัวอย่าง ด้านความรู้ และเจตคติสูงขึ้นทุกคน โดยมีคะแนนพัฒนาการอยู่ในระดับสูงถึงสูงมาก สำหรับด้านทักษะการปฏิบัติงานอาชีพ พบว่า อยู่ในระดับมาก หลังจากการติดตามผล การฝึกอบรมเป็นระยะเวลา 1 เดือน คะแนนทั้ง 2 ส่วนลดลงเล็กน้อยแต่ยังคงอยู่ในระดับมาก และกลุ่มตัวอย่าง มีความพึงพอใจต่อหลักสูตรฝึกอบรมอยู่ในระดับมากที่สุด