Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความเป็นมาและการดำรงอยู่ของต้นเท้ายายม่อม วิเคราะห์ภูมิปัญญาการใช้ประโยชน์และคุณค่าของต้นเท้ายายม่อม และสังเคราะห์รูปแบบการบูรณาการระหว่างการอนุรักษ์ต้นเท้ายายม่อมและภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยใช้วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ เก็บรวบรวมข้อมูลจากเอกสาร การสุ่มตัวอย่างแบบบอกต่อ ประกอบกับการเลือกแบบเจาะจง ใช้การสัมภาษณ์เชิงลึก และ การสนทนากลุ่ม ผลการวิจัย พบว่า 1. ความเป็นมาและการดำรงอยู่ของต้นเท้ายายม่อม พบว่า ต้นเท้ายายม่อม (Tacca leontopetaloides (L.) O. Kuntze.) เป็นพืชล้มลุกเจริญเติบโตตามฤดูกาล วงจรการเจริญเติบโต 12 เดือน แหล่งต้นเท้ายายม่อมพบหาแน่นบริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออกของประเทศไทย เป็นพืชที่มีการนำมาใช้ประโยชน์มานานกว่าร้อยปี มีการทำแป้งเท้ายายม่อม นำมาเป็นส่วนประกอบสำคัญของอาหารท้องถิ่น จนเป็นอัตลักษณ์ของชุมชน ทำให้มีผู้สนใจศึกษาและอนุรักษ์ ต่อมามีการขยายเครือข่ายและมีส่วนร่วม ในการอนุรักษ์เท้ายายม่อมเพิ่มมากขึ้น จึงทำให้ต้นเท้ายายม่อมยังคงดำรงอยู่ 2. ภูมิปัญญาการใช้ประโยชน์และคุณค่าของต้นเท้ายายม่อม พบว่า มีภูมิปัญญาการทำแป้งเท้ายายม่อม การทำอาหารจากแป้งเท้ายายม่อม การใช้เป็นของใช้และของเล่น ส่วนคุณค่าของต้นเท้ายายม่อม ประกอบด้วยคุณค่าภายในและคุณค่าภายนอก โดยคุณค่าภายในของต้นเท้ายายม่อม คือคุณสมบัติของต้นเท้ายายม่อม และคุณค่าภายนอกของต้นเท้ายายม่อม ประกอบด้วย 1) คุณค่าด้านเศรษฐกิจโดยทำให้เกิดการสร้างรายได้ในระดับครัวเรือน ระดับชุมชน และระดับสากล 2) คุณค่าด้านสังคม ซึ่งได้แก่ การทำให้เกิดความสัมพันธ์ในชุมชน การทำให้เกิดการขัดเกลาทางสังคม การทำให้เกิดจิตสำนึกรักท้องถิ่นและร่วมกันสร้างอัตลักษณ์ชุมชน การทำให้เกิดเครือข่ายการเรียนรู้ การสร้างงานและคุณค่า ในตัวเองของผู้สูงอายุ 3) คุณค่าด้านการเป็นแหล่งเรียนรู้ เนื่องจากมีองค์ประกอบที่ทำให้เกิดแหล่งเรียนรู้ ซึ่งได้แก่ ด้านความรู้ ความสามารถ ทักษะ ประสบการณ์การผลิตซ้ำ การเลือกสรรวัตถุดิบ ด้านความคิดและความเชื่อ ด้านการคิดสร้างสรรค์และการจินตนาการ ด้านการแก้ปัญหา ด้านการจัดเก็บความรู้ ด้านการแลกเปลี่ยนความรู้ ด้านการถ่ายทอดความรู้ และด้านแหล่งรวมสาระความรู้ 3. รูปแบบการบูรณาการระหว่างการอนุรักษ์ต้นเท้ายายม่อมและภูมิปัญญาท้องถิ่น ประกอบด้วย 1) ระดับบุคคล ได้แก่ การสร้างผู้นำเพื่อการอนุรักษ์ การสร้างพื้นที่รูปธรรม การรวบรวมข้อมูลและและทำสารสนเทศ การสร้างภาคีและเครือข่ายการอนุรักษ์ 2) ระดับชุมชน ได้แก่ การจัดการความรู้ การพัฒนาบุคลากร การสร้างกิจกรรมการเรียนรู้ การจัดการสถานที่ 3) ระดับสากล ได้แก่ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การส่งเสริมการท่องเที่ยว และการสนับสนุนจากองค์การ