Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อวิเคราะห์คุณภาพข้อสอบ Pre O-NET กลุ่มสาระ การเรียนรู้ภาษาไทย ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โดยประยุกต์ใช้โมเดลการตอบสนองข้อสอบ แบบพหุมิติ พัฒนาคลังข้อสอบ Pre O-NET กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ระดับชั้นมัธยมศึกษา ปีที่ 3 พัฒนาโปรแกรมการทดสอบแบบปรับเหมาะด้วยคอมพิวเตอร์ สําหรับจัดสอบ Pre O-NET กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และประเมินคุณภาพของโปรแกรม การทดสอบแบบปรับเหมาะด้วยคอมพิวเตอร์ กระบวนการวิจัยประกอบด้วย 4 ระยะ คือ 1) พัฒนาคลังข้อสอบ Pre O-NET กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โดยวิเคราะห์ ค่าพารามิเตอร์ของข้อสอบ ตามทฤษฎีการตอบสนองข้อสอบแบบพหุมิติ ด้วยโมเดลปกติสะสมแบบพหุมิติกับโอกาสการเดา จากข้อมูลทุติยภูมิที่เป็นคะแนนผลการสอบ Pre O-NET กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 500 คน ซึ่งได้มาโดยวิธีการสุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน (Multi stage random sampling) โดยใช้โปรแกรม NOHARM 2) พัฒนาโปรแกรมการทดสอบแบบปรับเหมาะด้วยคอมพิวเตอร์ในรูปแบบ Web Application และคู่มือการใช้งานโปรแกรม กระบวนการทดสอบเริ่มต้นโดยการคัดเลือกข้อสอบข้อแรกและข้อถัดไปจากข้อสอบที่มีค่าสารสนเทศสูงสุดด้วยวิธีการ Bayesian Volume Decrease ประมาณ ค่าความสามารถของผู้สอบด้วยวิธี Bayesian Estimation และยุติการทดสอบเมื่อผู้สอบทำข้อสอบ ทั้ง 5 มิติครบ 50 ข้อ 3) ทดลองใช้งานโปรแกรมการทดสอบแบบปรับเหมาะด้วยคอมพิวเตอร์และคู่มือการใช้งานโปรแกรมกับครูจำนวน 12 คน และนักเรียนจำนวน 153 คน และ 4) ประเมินคุณภาพของโปรแกรมการทดสอบแบบปรับเหมาะด้วยคอมพิวเตอร์ในประเด็นเกี่ยวกับ ความเป็นประโยชน์ ความเป็นไปได้ ความถูกต้องครอบคลุมและความเหมาะสมของโปรแกรม การทดสอบแบบปรับเหมาะด้วยคอมพิวเตอร์ จากผู้ใช้งานโปรแกรม ซึ่งเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จํานวน 152 คน ผลการวิจัยพบว่า 1. ข้อสอบ Pre O-NET กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่ผ่าน การคัดเลือกเข้าคลังข้อสอบ มีจำนวน 163 ข้อ มีค่าอำนาจจำแนกแบบพหุมิติ (MDISC) อยู่ระหว่าง 0.024 ถึง 0.435 และมีค่าความยากแบบพหุมิติ (MDIFF) อยู่ระหว่าง -3.489 ถึง 2.294 2. โปรแกรมการทดสอบแบบปรับเหมาะด้วยคอมพิวเตอร์ที่พัฒนาขึ้นสามารถใช้งานบนระบบปฏิบัติการได้ทุกระบบที่มี Web Browser สามารถวิเคราะห์ความสามารถของผู้สอบได้ ทั้งความสามารถแยกตามมิติและความสามารถโดยรวม และยังสามารถจําแนกระดับความสามารถของผู้สอบออกเป็น 4 ระดับย่อย คือ ดีมาก ดี พอใช้ และปรับปรุง 3. การทดลองใช้งานโปรแกรมการทดสอบแบบปรับเหมาะด้วยคอมพิวเตอร์และคู่มือการใช้งานโปรแกรม พบว่าทั้งครูและนักเรียนมีความพึงพอใจกับกระบวนการทำงานของโปรแกรมและคู่มือการใช้งาน และจากการประเมินคุณภาพของโปรแกรมการทดสอบแบบปรับเหมาะด้วยคอมพิวเตอร์โดยผู้ใช้งาน พบว่าโปรแกรมมีคุณภาพด้านความเป็นประโยชน์ ความเป็นไปได้ ความถูกต้องครอบคลุมและความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด