Abstract:
การคัดเลือกข้อสอบข้อถัดไปเป็นหัวใจสำคัญของการทดสอบแบบปรับเหมาะด้วยคอมพิวเตอร์ เนื่องจากส่งผลต่อประสิทธิภาพของการทดสอบ การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) พัฒนาวิธีการคัดเลือกข้อสอบข้อถัดไปโดยใช้วิธีระบบอาณานิคมมด 2) เปรียบเทียบประสิทธิภาพของวิธีการคัดเลือกข้อสอบข้อถัดไป 3 วิธี คือ วิธีการคัดเลือกข้อสอบข้อถัดไปโดยใช้ค่าสารสนเทศสูงสุด (วิธี MIC) วิธีการคัดเลือกข้อสอบข้อถัดไปโดยใช้เกณฑ์ของเฮอร์วิคซ์และมีการควบคุมการใช้ข้อสอบ (วิธี HC-Ex) และวิธีการคัดเลือกข้อสอบข้อถัดไปโดยใช้วิธีระบบอาณานิคมมด (วิธี ACS) ในด้านการประมาณค่าความสามารถของผู้สอบ ด้านความยาวของแบบทดสอบ และด้านจำนวนข้อสอบที่มีอัตราการใช้ข้อสอบมากกว่า 0.20 3) พัฒนาโปรแกรมการทดสอบแบบปรับเหมาะด้วยคอมพิวเตอร์ที่ใช้วิธีการคัดเลือกข้อสอบข้อถัดไปโดยใช้วิธีระบบอาณานิคมมด และ 4) ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างค่าประมาณความสามารถของผู้สอบที่ได้จากการทดสอบแบบปรับเหมาะด้วยคอมพิวเตอร์ที่ใช้วิธีการคัดเลือกข้อสอบข้อถัดไปโดยใช้วิธีระบบอาณานิคมมด กับคะแนนรวมของผู้สอบที่ได้จากการทดสอบด้วยคอมพิวเตอร์ กลุ่มตัวอย่างเป็นนักศึกษาระดับปริญญาตรี ปีการศึกษา 2561 จำนวน 30 คน และวิเคราะห์ข้อมูลด้วยการวิเคราะห์สหสัมพันธ์แบบเพียร์สัน ผลการวิจัยปรากฏว่า 1) วิธีการคัดเลือกข้อสอบข้อถัดไปโดยใช้วิธีระบบอาณานิคมมดมี 3 ขั้นตอน ดังนี้ (1) จัดกลุ่มข้อสอบในคลังตามค่าความยากของข้อสอบออกเป็น 5 ระดับ และเลือกข้อสอบข้อถัดไปตามกฎการเลือกข้อสอบเพื่อจัดเรียงบนโครงสร้างต้นไม้ตัดสินใจแบบสามเหลี่ยม (2) ออกแบบกระบวนการของวิธีอาณานิคมมด โดยการจำลองผลการตอบข้อสอบเพื่อวัดความเหมาะสมของการเลือกข้อสอบข้อถัดไป และ (3) เชื่อมโยงกระบวนการทดสอบแบบปรับเหมาะด้วยคอมพิวเตอร์ให้สัมพันธ์กับวิธีระบบอาณานิคมมด 2) วิธีการคัดเลือกข้อสอบข้อถัดไปโดยใช้วิธี ACS มีประสิทธิภาพสูงกว่าวิธี MIC และวิธี HC-Ex ในด้านการประมาณค่าความสามารถของผู้สอบ และด้านจำนวนข้อสอบที่มีอัตราการใช้ข้อสอบมากกว่า 0.20 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 ในขณะที่วิธี HC-Ex มีประสิทธิภาพในด้านความยาวของแบบทดสอบสูงสุด 3) โปรแกรมการทดสอบแบบปรับเหมาะด้วยคอมพิวเตอร์ที่พัฒนาขึ้นในภาพรวมมีความเหมาะสมในการใช้งานระดับมากที่สุด และ 4) ค่าประมาณความสามารถของผู้สอบที่ได้จากการทดสอบแบบปรับเหมาะด้วยคอมพิวเตอร์ที่พัฒนาขึ้น กับคะแนนรวมของผู้สอบที่ได้จากการทดสอบด้วยคอมพิวเตอร์มีความสัมพันธ์กันทางบวกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01