Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาโปรแกรมฝึกการตอบสนองความใส่ใจต่อเนื่อง (SART) และโปรแกรมฝึกการตื่นตัวด้วยตนเอง (SAT) เปรียบเทียบค่าเฉลี่ยคะแนนความใส่ใจต่อเนื่องระหว่างกลุ่มทดลองกับกลุ่มควบคุม กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนอาชีวศึกษา ชั้นประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2561 วิทยาลัยการอาชีพวังน้ำเย็น จังหวัดสระแก้ว โดยใช้วิธีการสุ่มแบบยกกลุ่ม 3 ห้องเรียน จำนวน 90 คน แล้วใช้วิธีการสุ่มอย่างง่ายจับฉลากเลือกว่าห้องใดเป็นกลุ่มทดลอง และห้องใดเป็นกลุ่มควบคุม เครื่องมือวิจัย แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ 1) เครื่องมือที่ใช้ทดลอง ได้แก่ โปรแกรม SAT และโปรแกรมเกม Tetris และ 2) เครื่องมือที่ใช้วัดตัวแปรตาม ได้แก่ แบบทดสอบสมรรถนะต่อเนื่อง วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติ t-test และ ANOVA ผลการวิจัยปรากฏว่า 1. โปรแกรม SART และโปรแกรม SAT มีความเหมาะสมสำหรับการเพิ่มความใส่ใจต่อเนื่องของนักเรียนอาชีวศึกษา อยู่ในระดับมากที่สุด 2. ค่าเฉลี่ยคะแนนตอบสนองความใส่ใจต่อเนื่องของนักเรียนอาชีวศึกษา หลังการใช้โปรแกรม SAT สูงกว่าก่อนใช้โปรแกรม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 3. ค่าเฉลี่ยคะแนนตอบสนองความใส่ใจต่อเนื่องของนักเรียนอาชีวศึกษา หลังการใช้โปรแกรมเกม Tetris สูงกว่าก่อนใช้โปรแกรม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 4. ค่าเฉลี่ยคะแนนตอบสนองความใส่ใจต่อเนื่องของนักเรียนอาชีวศึกษา หลังการใช้โปรแกรม SAT สูงกว่าหลังใช้ Tetris อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 5. ค่าเฉลี่ยคะแนนความใส่ใจต่อเนื่องของนักเรียนอาชีวศึกษา หลังใช้ SAT สูงกว่าก่อนใช้โปรแกรม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 6. ค่าเฉลี่ยคะแนนความใส่ใจต่อเนื่องของนักเรียนอาชีวศึกษา หลังใช้โปรแกรมเกม Tetris สูงกว่าก่อนใช้โปรแกรม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 7. นักเรียนอาชีวศึกษา หลังใช้โปรแกรมฝึกการตื่นตัวด้วยตนเอง (SAT) โปรแกรมเกม Tetris และวิธีการตามปกติ มีค่าเฉลี่ยคะแนนความใส่ใจต่อเนื่องแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 สรุปได้ว่า โปรแกรมฝีกการตื่นตัวด้วยตนเอง (SAT) ที่พัฒนาขึ้น สามารถเพิ่มความใส่ใจต่อเนื่องของนักเรียนอาชีวศึกษา ได้เพิ่มขึ้นมากที่สุด