Abstract:
เด็กวัยก่อนเรียนที่ได้รับการเลี้ยงดูจากบิดามารดาในครอบครัวเป็นส่วนสําคัญต่อการมีพัฒนาการด้านต่าง ๆ และการคิดเชิงบริหารมีการพัฒนาเป็นอย่างมากในวัยก่อนเรียน การวิจัยแบบบรรยายเชิงหาความสัมพันธ์ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยด้านครอบครัว ได้แก่ ลักษณะครอบครัวรายได้ของครอบครัว ลักษณะสภาพแวดล้อมที่บ้าน ความเครียดในการเป็นมารดาและระดับการศึกษาของมารดากับพัฒนาการด้านการคิดเชิงบริหารในเด็กวัยก่อนเรียน กลุ่มตัวอย่างคัดเลือกโดยการสุ่มแบบหลายขั้นตอน เป็นมารดาและเด็กวัยก่อนเรียน จํานวน 198 คน ที่เข้ารับบริการในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในเขตเทศบาลเมืองชลบุรี เก็บข้อมูลระหว่างเดือนมกราคม ถึง เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2561 เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ประกอบด้วยแบบสอบถามทั้งหมด 4 ชุด ได้แก่ แบบสอบถามข้อมูลทั่วไป แบบสอบถามสภาพแวดล้อมที่บ้าน แบบสอบถามความเครียดในการเป็นมารดา และแบบสอบถามพัฒนาการ ด้านการคิดเชิงบริหารในเด็กวัยก่อนเรียน มีความเชื่อมั่นเท่ากับ .70, .95และ .96 ตามลําดับ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติพรรณนาและสถิติสหสัมพันธ์ของเพียร์สัน ผลการวิจัยพบว่า พัฒนาการด้านการคิดเชิงบริหารในเด็กวัยก่อนเรียนโดยรวมมีคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 87.24 (SD = 20.01) ความเครียดในการเป็นมารดามีความสัมพันธ์ทางลบในระดับตํ่ากับพัฒนาการด้านการคิดเชิงบริหารในเด็กวัยก่อนเรียน อย่างมีนัยสําคัญทางสถิติ ( r = -.147, p < .05) ส่วนลักษณะครอบครัว รายได้ของครอบครัวลักษณะสภาพแวดล้อมที่บ้าน และระดับการศึกษาของมารดาไม่มีความสัมพันธ์กับพัฒนาการด้านการคิดเชิงบริหารในเด็กวัยก่อนเรียน (p> .05) ผลการวิจัยครั้งนี้ให้ข้อเสนอแนะว่า พยาบาลและผู้มีหน้าที่ดูแลสุขภาพเด็ก ควรให้ความสําคัญกับพัฒนาการด้านการคิดเชิงบริหารในเด็กวัยก่อนเรียน การจัดกิจกรรมเพื่อลดความเครียดในการเป็นมารดาของเด็กวัยก่อนเรียน ซึ่งสามารถส่งผลให้เด็กวัยก่อนเรียนมีพัฒนาการด้านการคิดเชิงบริหารที่เหมาะสม