Abstract:
ทารกแรกเกิดตัวเหลืองที่ได้รับการส่องไฟรักษาต้องการการดูแลจากมารดามากที่สุด ดังนั้นการมีส่วนร่วมของมารดาในการดูแลทารกแรกเกิดตัวเหลืองที่ได้รับการส่องไฟรักษา จึงมีความสำคัญอย่างยิ่ง การวิจัยแบบหาความสัมพันธ์เชิงทำนายนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา ปัจจัยทำนายการมีส่วนร่วมของมารดาในการดูแลทารกแรกเกิดตัวเหลืองที่ได้รับการรักษาด้วยการส่องไฟในหอผู้ป่วยกุมารเวชกรรมโรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา และโรงพยาบาลสมุทรปราการกลุ่มตัวอย่างเป็นมารดาที่ได้รับอนุญาตให้เฝ้าทารกที่มีภาวะตัวเหลือง จำนวน 100 ราย คัดเลือกด้วยวิธีการเลือกแบบสะดวก ตามคุณสมบัติที่กำหนด เก็บรวบรวมข้อมูลระหว่างเดือนธันวาคม พ.ศ. 2559 ถึงเดือนมีนาคม พ.ศ. 2560 เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลประกอบด้วยแบบบัน ทึกข้อมูลทั่วไปของมารดาและทารกแบบสอบถามการมีส่วนร่วมของมารดาในการดูแลทารกแรกเกิดตัวเหลืองที่ได้รับการส่องไฟแบบสอบถามสัมพันธภาพระหว่างมารดาและทารกแบบสอบถามการสื่อสารระหว่างมารดากับ พยาบาลและแบบสอบถามการสนับสนุนจากพยาบาลแบบสอบถามมีค่าความเชื่อมั่นแอลฟ่าครอนบาคเท่ากับ .81, .81, .85, และ .91 ตามลำดับ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติพรรณนาค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของเพียร์สัน และสถิติถดถอยพหุคูณแบบขั้นตอน ผลการวิจัยพบว่า สัมพันธภาพระหว่างมารดาและทารกมีความสัมพันธ์ทางบวกกับการมีส่วนร่วมของมารดาในการดูแลทารกตัวเหลืองที่ได้รับการส่องไฟรักษา (r= .535, p < .001) และสามารถทำนายการมีส่วนร่วมของมารดาได้ร้อยละ 29 (F2,97= 37.188, p< .001) ผลการศึกษาครั้งนี้เสนอแนะว่า พยาบาลและบุคลากรทีมสุขภาพ ควรส่งเสริมสัมพันธภาพระหว่างมารดากับทารกเพื่อให้มารดามีส่วนร่วมในการดูแลทารกแรกเกิดที่มีภาวะตัวเหลืองที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น