Abstract:
วัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและเปรียบเทียบรูปแบบการฟื้นตัวทั้ง 4 รูปแบบ ที่ส่งผลต่อปริมาณกรดแลคติกในเลือดอัตราการเต้นของหัวใจและสมรรถภาพเชิงแอนแอโรบิก ภายหลังจากการทดสอบวิ่งด้วยความเร็วสูงสุดแบบซ้ำ (Repeated sprint test) ในนักกีฬาฟุตบอลอาชีพ กลุ่มตัวอย่างเป็นนักกีฬาฟุตบอลอาชีพ สโมสรชลบุรี เอฟ.ซี. จำนวน 9 คน (อายุ 20±0.00 ปี น้ำหนัก 66.52±3.50 กิโลกรัม สูง 171.88±3.82 เซนติเมตร และการใช้ออกซิเจน 62.40±0.42 มิลลิโมลต่อกิโลกรัมต่อนาทีกลุ่มตัวอย่างทำการทดสอบวิ่งด้วยความเร็วสูงสุดแบบซ้ำ เพื่อประเมินค่าสมรรถภาพเชิงแอโรบิกและแอนแอโรบิกจากค่าดัชนีความเมื่อยล้า (เปอร์เซ็นต์) จากนั้นกลุ่มตัวอย่างเข้าร่วมการทดลองโดยใช้การฟื้นตัวทั้ง 4 รูปแบบ และมีระยะเวลาของการทดลองในแต่ละรูปแบบห่างกัน 3 วัน กลุ่มตัวอย่างแต่ละคนทำการทดสอบวิ่งด้วยความเร็วสูงสุดแบบซ้ำ และตามด้วยรูปแบบการฟื้นตัวทั้ง 4 รูปแบบ คือ รูปแบบ A การฟื้นตัวแบบมีกิจกรรมการเคลื่อนไหวที่ระดับความหนัก 30-40 เปอร์เซ็นต์ของอัตราการเต้นหัวใจสูงสุด 10 นาทีร่วมกับการแช่น้ำเย็นอุณหภูมิที่ 11-15 องศาเซลเซียส 10 นาที รูปแบบ B การฟื้นตัวแบบมีกิจกรรมการเคลื่อนไหวที่ระดับความหนัก 50-60 เปอร์เซ็นต์ของอัตราการเต้นหัวใจสูงสุด 10 นาทีร่วมกับการแช่น้ำเย็นอุณหภูมิที่ 11-15 องศาเซลเซียส 10 นาที รูปแบบ C การแช่น้ำเย็นอุณหภูมิที่ 11-15 องศาเซลเซียส 20 นาที และรูปแบบ D วิธีการยืดเหยียดแบบ ปกติของทีม ปริมาณค่ากรดแลคติกได้จากการเจาะเลือดบริเวณหูภายหลังจากการทดสอบวิ่งด้วยความเร็วสูงสุดแบบซ้ำ ภายหลัง 3 นาทีและภายหลังจากการฟื้นสภาพแบบมีกิจกรรมในแต่ละรูปแบบอัตราการเต้นของหัวใจถูกวัดต่อเนื่องตลอดการทดลองและค่าดัชนีความเมื่อยล้า (เปอร์เซ็นต์) ได้มาจากการทดสอบวิ่งด้วยความเร็วสูงสุดแบบซ้ำ ภายหลังจากสิ้นสุดการฟื้นสภาพแบบมีกิจกรรมในแต่ละรูปแบบ นำผลที่ได้จากการทดลองมาวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบวัดซ้ำ (ANOVA for repeated measures with testing time) และเปรียบเทียบความแตกต่างเป็นรายคู่โดยวิธีของ Tukey กำหนดความมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดัย .05 ผลการวิจัย พบว่า อัตราการเต้นของหัวใจมีค่าเฉลี่ยที่ (69.67±3.04, 70±4.23, 71.33±3.31, 68.44±2.57 ครั้งต่อนาที) และดัชนีความเมื่อยล้ามีค่าเฉลี่ยที่ (0.12±1.24, 0.14±1.23, 0.12±1.42, 0.08±1.37 เปอร์เซ็นต์) หลังสิ้นสุดการฟื้นสภาพแบบมีกิจกรรมใน 4 รูปแบบ ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p > .05) ปริมาณกรดแลคติกภายหลังการฟื้นสภาพแบบมีกิจกรรม พบว่า มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (F (1.48, 178.86) = 126.6, p < 0.01) โดยรูปแบบ B ซึ่งเป็นการฟื้นสภาพแบบมีกิจกรรม การเคลื่อนไหวที่ระดับความหนัก 50-60 เปอร์เซ็นต์ของอัตราการเต้นหัวใจสูงสุด 10 นาทีร่วมกับการแช่น้ำเย็นอุณหภูมิที่ 11-15 องศาเซลเซียส 10 นาที สามารถลดปริมาณกรดแลคติกได้สูงสุด (B = 86.6 เปอร์เซ็นต์) เมื่อเปรียบเทียบกับรูปแบบการฟื้นสภาพแบบมีกิจกรรมภายใต้รูปแบบอื่น ๆ (A = 66.6 เปอร์เซ็นต์, D = 37.6 เปอร์เซ็นต์, C = 3.15 เปอร์เซ็นต์) ผลการทดลองที่ได้จากงานวิจัยนี้สรุปได้ว่า กลยุทธ์ของการฟื้นสภาพแบบมีกิจกรรมที่ระดับความหนักที่เหมาะสมคือที่ 50-60 เปอร์เซ็นต์ของอัตราการเต้นหัวใจ สูงสุดร่วมกับการแช่น้ำเย็นที่อุณหภูมิ 11-15 องศาเซลเซียส มีความเหมาะสมมากที่สุดสำหรับการฟื้นสภาพของนักกีฬาฟุตบอลอาชีพทั้งในช่วงของการฝึกซ้อมและภายหลังการสิ้นสุดการแข่งขัน