Abstract:
การวิจัยในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความสามารถของร่างกายในการใช้ออกซิเจนได้สูงสุดกับการฟื้นตัวของอัตราการเต้นของหัวใจในทุกช่วง 15 วินาทีภายในระยะเวลา 2 นาที และเพื่อศึกษาสมการในการทำนายความสามารถของร่างกายในการใช้ออกซิเจนได้สูงสุดจากการวัดการฟื้นตัวของอัตราการเต้นของหัวใจ กลุ่มตัวอย่างเป็นนักกีฬาทีมชาติไทย จำนวน 150 คน อายุระหว่าง 17-34 ปี (21.18 ± 4.36 ปี) เข้าร่วมด้วยความสมัครใจ การเก็บข้อมูลได้ให้กลุ่มตัวอย่างทำการทดสอบความสามารถของร่างกายในการใช้ออกซิเจนได้สูงสุดโดยวิธีการของออสตรานด์และไรห์มิ่ง พัก 48 ชั่วโมง ทำการทดสอบวินเกต ทำการวัดอัตราการเต้นของหัวใจที่เต้นได้จำนวนครั้งที่สูงที่สุด และการฟื้นตัวของอัตราการเต้นของหัวใจในทุกช่วง 15 วินาทีภายในระยะเวลา 2 นาที ความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรวิเคราะห์โดยใช้สถิติวิเคราะห์สัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์และทำนายความสามารถของร่างกายในการใช้ออกซิเจนได้สูงสุดจากการใช้การวิเคราะห์การถดถอยของสมการเชิงเส้น กำหนดระดับความมีนัยสำคัญทางสถิติ .05 ผลการวิจัยพบว่า 1. การฟื้นตัวของอัตราการเต้นของหัวใจภายหลังการออกกำลังกายทันทีในทุกช่วง 15 วินาที ภายในระยะเวลา 2 นาที มีความสัมพันธ์กับความสามารถของร่างกายในการใช้ออกซิเจนได้สูงสุด (r = .47, .45, .51, .64, .61, .59, .57, .60 ตามลำดับ) 2. สมการทำนายความสามารถของร่างกายในการใช้ออกซิเจนได้สูงสุดจากการฟื้นตัวของอัตราการเต้นของหัวใจในช่วงการฟื้นตัว คือ VO2max = 24.314 + 1.007HRrec60 3. อายุมีความสัมพันธ์กับความสามารถของร่างกายในการใช้ออกซิเจนได้สูงสุด แต่ไม่มีความสัมพันธ์กับการฟื้นตัวของอัตราการเต้นของหัวใจภายหลังการออกกำลังกายทันทีในทุกช่วงเวลา จากข้อมูลที่ปรากฏสามารถสรุปได้ว่า เทคนิคการวัดการฟื้นตัวของอัตราการเต้นของหัวใจ ภายหลังการออกกำลังกายทันที สามารถนำไปใช้ในการทำนายความสามารถของร่างกายในการใช้ ออกซิเจนได้สูงสุดได้ มีความสะดวก รวดเร็ว และง่ายต่อการปฏิบัติ