Abstract:
การสูญเสียทารกจากการตั้งครรภ์และการคลอดในครรภ์ก่อนก่อให้เกิดความวิตกกังวลในการตั้งครรภ์ครั้งต่อไป การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับความวิตกกังวลของหญิงตั้งครรภ์ที่เคยสูญเสียบุตรจากการตั้งครรภ์และการคลอด กลุ่มตัวอย่างเป็นหญิงตั้งครรภ์ที่มีประวัติการสูญเสียบุตรจากการตั้งครรภ์และการคลอดที่มารับการบริการฝากครรภ์ โรงพยาบาลเจ้าพระยายมราช โรงพยาบาลสมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 17 และโรงพยาบาลอู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี จำนวน 111ราย คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบสะดวกจากหญิงตั้งครรภ์ที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์เก็บรวมรวมข้อมูลในเดือนมกราคมถึงเดือน มีนาคม พ.ศ. 2561 เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลประกอบด้วยแบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคลแบบสอบถามประวัติ ทางสูติกรรม แบบประเมินการสนับสนุนทางสังคมแบบพหุมิติและแบบวัดความวิตกกังวล ขณะเผชิญวิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติพรรณนา สถิติสหสัมพันธ์เพียร์สัน และสถิติสหสัมพันธ์แบบพอยท์ไบซีเรียล ผลการวิจัย พบว่า หญิงตั้งครรภ์ที่เคยสูญเสียบุตรจากการตั้งครรภ์หรือการคลอดครั้งก่อน ส่วนใหญ่มีความวิตกกังวลในระดับปานกลาง (ร้อยละ 49.5) และพบว่า การสนับสนุนทางสังคมมีความสัมพันธ์ทางลบกับความวติกกังวลขณะเผชิญอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (r= -.22, p = .02) ส่วนอายุครรภ์ของการสูญเสียบุตรในครรภ์ที่ผ่านมา (r= -.10, p = .31) ระยะห่างระหว่างการตั้งครรภ์ครั้งที่แล้ว (r= -.06, p = .50) อายุครรภ์ปัจจุบัน (r= -.07, p = .44) และการมีภาวะแทรกซ้อนระหว่างตั้งครรภ์ (rpb= .04, p= .71) ไม่มีความสัมพันธ์กับความวิตกกังวล ขณะเผชิญของหญิงตั้งครรภ์ ผลการศึกษาครั้งนี้เสนอแนะให้พยาบาลในหน่วยให้บริการฝากครรภ์มีการประเมินความวิตกกังวลในหญิงตั้งครรภ์ที่เคยสูญเสียบุตรและให้การพยาบาลโดยส่งเสริมให้ครอบครัว เพื่อน และบุคคลรอบข้างของหญิงตั้งครรภ์ให้การสนับสนุนทางสังคมแก่หญิงตั้งครรภ์เพื่อลดระดับความวิตกกังวลขณะตั้งครรภ์ในครรภ์ปัจจุบัน