Abstract:
ความแข็งแกร่งในชีวิตเป็นปัจจัยสำคัญในกระบวนการเปลี่ยนผ่านเพื่อหยุดการใช้สารเสพติดในเยาวชน การวิจัยกึ่งทดลองครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของศิลปะบำบัดแบบกลุ่มต่อความแข็งแกร่งในชีวิตของเยาวชนผู้เสพสารเสพติด กลุ่มตัวอย่างเป็นเยาวชนผู้เสพสารเสพติดที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่กำหนด จำนวน 24 คน สุ่มตัวอย่างเข้ากลุ่มทดลอง 12 คน และกลุ่มควบคุม 12 คน กลุ่มทดลองได้รับโปรแกรมกลุ่มศิลปะบำบัดฯ จำนวน 8 ครั้ง สัปดาห์ละ 2 ครั้งครั้งละ 60-90 นาทีร่วมกับการบำบัดหลักของทางโรงพยาบาลกลุ่มควบคุมได้รับการบบำบัดหลักของโรงพยาบาลเก็บรวบรวมผลลัพธ์ของโปรแกรมในระยะก่อนการทดลองหลังการทดลองเสร็จสิ้นทันทีและติดตามผล 1 เดือน ใช้ความแข็งแกร่งในชีวิต วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนาการทดสอบทีการวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบวัดซ้ำ และทดสอบความแตกต่างรายคู่ด้วยวิธี Bonferroni ผลการศึกษาพบว่า ผลต่างคะแนนเฉลี่ยความแข็งแกร่งในชีวิตกลุ่มทดลองระยะหลังการทดลองเสร็จสิ้นทันทีแตกต่างจากกลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และกลุ่มทดลองมีคะแนนเฉลี่ยความแข็งแกร่งในชีวิตในระยะก่อนการทดลอง หลังการทดลองเสร็จสิ้นทันทีและระยะติดตามผล 1 เดือน แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่า โปรแกรมกลุ่มศิลปะบำบัดฯ นี้สามารถเสริมสร้างความแข็งแกร่งในชีวิตของเยาวชนผู้เสพสารเสพติดได้ บุคลากรทางด้านสุขภาพสามารถประยุกต์ใช้รูปแบบของโปรแกรมกลุ่มศิลปะบำบัดฯ นี้เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งในชีวิตในเยาวชนผู้เสพสารเสพติด และพัฒนาเพื่อใช้สำหรับผู้ป่วยกลุ่มอื่น ๆ ต่อไป