Abstract:
ทารกเกิดก่อนกำหนดเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยพิการและเสียชีวิตต้องเข้ารับการรักษาในหอผู้ป่วยทารกแรกเกิดวิกฤตเป็นระยะเวลานาน ทำให้มารดามีความรู้สึกไม่แน่นอนในการเจ็บป่วย ก่อให้เกิดความเครียดและบทบาทการดูแลบุตรเปลี่ยนแปลงไป การช่วยลดความรู้สึกไม่แน่นอน จึงเป็นสิ่งสำคัญการวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลองเพื่อศึกษาผลของโปรแกรมการให้ข้อมูลและการสนับสนุนจากสามีต่อความรู้สึกไม่แน่นอนของมารดาที่มีบุตรเกิดก่อนกำหนด กลุ่มตัวอย่าง คือ มารดาที่มีบุตรเกิดก่อนกำหนดเข้ารับการรักษาในหอผู้ป่วยทารกแรกเกิดวิกฤตโรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา จังหวัดชลบุรี จำนวน 30 ราย คัดเข้ากลุ่มควบคุมและกลุ่มทดลองกลุ่มละ 15 ราย กลุ่มควบคุมได้รับการพยาบาลตามปกติส่วนกลุ่มทดลองได้รับโปรแกรมการให้ข้อมูลและการสนับสนุนจากสามีเครื่องมือที่ในการเก็บข้อมูล ได้แก่ แบบบันทึกข้อมูลทั่วไปของมารดาและทารกและแบบสอบถามความรู้สึกไม่แน่นอนของมารดาวิเคราะห์ข้อมูล โดยใช้สถิติเชิงพรรณนา สถิติและการทดสอบค่าที ผลการวิจัย พบว่า ภายหลังสิ้นสุดการทดลองมารดากลุ่มทดลองมีคะแนนเฉลี่ยความรู้สึก ไม่แน่นอนต่ำกว่ามารดากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<.001) และกลุ่มทดลองมีคะแนนเฉลี่ยความรู้สึกไม่แน่นอนต่ำกว่าก่อนได้รับโปรแกรมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<.001) ผลการวิจัยครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า โปรแกรมการให้ข้อมูลและการสนับสนุนจากสามีจะช่วยทำให้ความรู้สึกไม่แน่นอนของมารดาที่มีบุตรเกิดก่อนกำหนดลดลง ดังนั้น พยาบาล และบุคลากรทีมสุขภาพ ควรนำโปรแกรมการให้ข้อมูลและการสนับสนุนจากสามีไปใช้กับมารดาที่มีบุตรเกิดก่อนกำหนดต่อไป