Abstract:
การศึกษาวิจัยในครั้งนี้ เพื่อศึกษาปัญหาและแนวทางการพัฒนาการบริหารงานวิชาการของโรงเรียนนาเชือกพิทยาสรรค์ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 26 จำแนกตามประสบการณ์สอน วุฒิการศึกษา และระดับที่สอน กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ ครูโรงเรียนนาเชือกพิทยาสรรค์ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 26 จำนวน 86 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวมรวมข้อมูล เป็นแบบสอบถามมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ จำนวน 49 ข้อ มีค่าอำนาจจำแนกรายข้อ .77-.94 มีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ .98 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ คือ ค่าเฉลี่ย ร้อยละ ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบค่าวิกฤต (t-test) การวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One-way ANOVA) และการทดสอบรายคู่โดยวิธี Scheffe test ผลการวิจัยพบว่า 1. ปัญหาการบริหารงานวิชาการโรงเรียนนาเชือกพิทยาสรรค์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 26 โดยรวมและรายด้านอยู่ในระดับมาก 2. ผลการเปรียบเทียบปัญหาการบริหารงานวิชาการของโรงเรียน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 26 จำแนกตามประสบการณ์การสอน โดยรวมแตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ ยกเว้น ด้านการวิจัยเพื่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษา แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 3. ผลการเปรียบเทียบปัญหาการบริหารงานวิชาการของโรงเรียน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 26 จำแนกตามวุฒิการศึกษา โดยรวมและรายด้านแตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ยกเว้นด้านการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา ด้านการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ ด้านการวัดผลประเมินผลและเทียบโอนผลการเรียน ด้านการนิเทศการศึกษา ด้านการพัฒนาระบบการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา แตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทาง สถิติ 4. ผลการเปรียบเทียบปัญหาการบริหารงานวิชาการของโรงเรียน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 26 จำแนกตามระดับที่สอน โดยรวมแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ยกเว้น ด้านการวิจัยเพื่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษา และด้านการพัฒนาสื่อนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ส่วนด้านอื่น ๆ แตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ 5. แนวทางการพัฒนาการบริหารงานวิชาการของโรงเรียนนาเชือกพิทยาสรรค์ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 26 ด้านพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาควรประเมินและพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาโดยบุคลากรภายในสถานศึกษาร่วมกับบุคลากรภายนอกสถานศึกษา ด้านการพัฒนากระบวนการเรียนรู้ควรให้ครูเลือกสอนตามความรู้ ความสามารถและความถนัดของตนเอง ด้านการวัดผลประเมินผลและเทียบโอนผลการเรียนควรมีการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาความรู้ และความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีการวัดผล ขั้นตอนการวัดผลและประเมินผลและการสร้างเครื่องมือในการวัดผลแบบต่าง ๆ ด้านการวิจัยเพื่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาควรเชิญวิทยากร มาให้ความรู้เกี่ยวกับการทำวิจัยให้กับครูอย่างสม่ำเสมอ ด้านการพัฒนาสื่อนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ควรมีการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อผลิตสื่อ ซ่อมแซมสื่อการเรียน การสอน และจัดทำนวัตกรรมทางการศึกษาให้กับครูผู้สอน ด้านการนิเทศการศึกษาควรส่งเสริมให้บุคลากรในสถานศึกษาเข้ารับการอบรมเพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินการนิเทศภายในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างต่อเนื่อง และด้านการพัฒนาระบบการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาควรจัดทำแผนนิเทศภายใน กำหนดปฏิทินการดำเนินการและมอบหมายหน้าที่ความรับผิดชอบอย่างชัดเจน