Abstract:
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประสบการณ์ชีวิตของวัยรุ่นไทยที่มีพฤติกรรมการสูบบุหรี่ โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพแบบปรากฏการณ์วิทยา (Phenomenology Qualitative Research) ผู้ให้ข้อมูลเป็นวัยรุ่นที่มีอายุระหว่าง 13-21 ปี อาศัยอยู่ในจังหวัดชลบุรี เก็บรวบรวมข้อมูลระหว่างเดือนสิงหาคม ถึงเดือนพฤศจิกายน 2549 โดยการสัมภาษณ์เจาะลึก (In – depth Interview) และการสนทนากลุ่ม (Focus Group Interview) ตามแนวทางการสัมภาษณ์และการสนทนากลุ่มที่ผู้วิจัยพัฒนาขึ้น การเก็บรวบรวมข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูลกระทำไปพร้อม ๆ กันจนข้อมูลอิ่มตัว รวมผู้ให้ข้อมูลทั้งสิ้นจำนวน 24 คน ผลการวิจัยพบว่า
การให้ความหมายของการสูบบุหรี่ตามการรับรู้ของวัยรุ่นผู้ให้ข้อมูล พบว่าผู้ที่มีพฤติกรรมการสูบบุหรี่และไม่สูบบุหรี่ให้ความหมายของการสูบบุหรี่เหมือนกันใน 3 ประเด็นสาระ ได้แก่ 1) ผู้ชายสูบบุหรี่เป็นเรื่องธรรมดา ผู้หญิงสูบบุหรี่เป็นเรื่องแปลก 2) คนที่สูบบุหรี่ไม่ใช่คนไม่ได้ แต่อาจมีปัญหา 3) การสูบบุหรี่เป็นปัญหาสังคม ส่วนการให้ความหมายของการสูบบุหรี่แตกต่างกัน โดยให้ความหายตามการรับรู้ของผู้ให้ข้อมูลที่มีพฤติกรรมสูบบุหรี่และปัจจุบันยังคงมีพฤติกรรมดังกล่าวคือการสูบบุหรี่มีผลเสียแต่เป็นความสุขทางใจซึ่ง ประกอบด้วย 2 ประเด็นสาระย่อย ได้แก่ การสูบบุหรี่ช่วยให้คลายเครียด และ การสูบบุหรี่เพื่อนมองว่าเท่ห์ แต่ผู้ใหญ่มองว่าไม่ดี สำหรับ กลุ่มผู้ให้ข้อมูลที่มีพฤติกรรมการสูบบุหรี่แต่ปัจจุบันไม่สูบบุหรี่และผู้ให้ข้อมูลที่ไม่พฤติกรรมสูบบุหรี่เลย ให้ความหมายของการสูบบุหรี่ว่า การสูบบุหรี่ทำให้เสียสุขภาพ ไม่ได้ทำให้เท่ห์หรือแปลก และสาเหตุของการสูบบุหรี่ตามการรับรู้ของวัยรุ่น ประกอบด้วย 1) เครียด อยากสูบให้หายเครียด 2) อยากรู้ อยากลอง และ 3) เห็นเพื่อนสูบก็สูบตามเพื่อน ซึ่งสาเหตุที่ทำให้วัยรุ่นไทยมีพฤติกรรมการสูบบุหรี่นั้น บางคนอาจเกิดจากหลายสาเหตุร่วมกันได้ ส่วนผลของการสูบบุหรี่ตามการรับรู้ของวัยรุ่นผู้ให้ข้อมูล ประกอบด้วย 1) การสูบบุหรี่ช่วยคลายเครียดได้บ้างเป็นครั้งคราว 2) การสูบบุหรี่มีผลเสียทั้งต่อตัวเองและผู้อื่น ซึ่งมี 2 ประเด็นสาระย่อย คือ ทำให้โรคร้ายเข้าสู่ร่างกายและภาพลักษณ์เปลี่ยนไป และ รบกวนคนรอบข้างทั้งกายจิต และ 3) การสูบบุหรี่ทำให้เสียเศรษฐกิจ
สำหรับการเลิกสูบบุหรี่ของวัยรุ่นผู้ให้ข้อมูล ทั้งที่มีพฤติกรรมการสูบบุหรี่และไม่สูบบุหรี่ ให้ความหมายการเลิกสูบบุหรี่ว่า “การเลิกสูบบุหรี่อยู่ที่ใจ” ซึ่งประกอบไปด้วย 2ประเด็นสาระย่อยๆ คือ เริ่มต้นที่ตนเอง ต้องมุ่งมั่นและใจแข็ง และ คนรอบข้างคอยช่วยเหลือ ส่วนสาเหตุที่ทำให้วัยรุ่นเลิกสูบบุหรี่ คือ 1) การรับรู้ว่าบุหรี่ไม่มีประโยชน์ แต่มีโทษมากกว่า 2) กลัวพ่อแม่เสียใจและ / หรือกลัวถูกไล่ออกจากบ้าน 3) กลัวเรียนไม่จบเพราะถูกไล่ออก 4) กลัวคนรังเกียจและไม่ยอมรับ และวิธีการเลิกสูบบุหรี่ คือ 1) ถ้าอยากลองก็ลองแค่รู้แล้วเลิกเลย 2) ถ้าไม่ติดให้เลิกทันที 3) ถ้าติดให้ต่อยๆลดจำนวนลง โดยมีปัจจุยที่มีผลต่อความสำเร็จในการเลิกบุหรี่ คือ 1) ความตั้งใจและเชื่อมั่นว่าจะทำได้เสร็จ 2) ปัญหาสุขภาพหรือการตระหนักถึงปัญหาสุขภาพ 3) คนรอบข้าง 4) ค่านิยมทางสังคม และ 5) กฎหมายหรือระเบียบที่เข้มงวด
ผลการวิจัยครั้งนี้ สามารถใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนาแนวทางการช่วยเหลือเพื่อป้องกันการสูบบุหรี่ในวัยรุ่นไทย รวมทั้ง สนับสนุนให้วัยรุ่นไทยมีพฤติกรรมการสูบบุหรี่ที่ประสบผลสำเร็จในการเลิกสูบบุหรี่ได้