Abstract:
การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงทดลอง มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลการปรึกษากลุ่มตามทฤษฎีการปรึกษาแบบเน้นทางออกระยะสั้น ต่อผลการแก้ปัญหาเชิงสังคมของนิสิตชั้นปีที่ 1 กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้เป็นนิสิตชั้นปีที่ 1 มหาวิทยาลัยบูรพา จำนวน 16 คน โดยคัดเลือกจากนิสิตที่มีคะแนนการแก้ปัญหาเชิงสังคมต่ำกว่าเปอร์เซ็นต์ไทล์ที่ 30 ทำการสุ่มอย่างง่าย เป็นกลุ่มทดลอง 8 คน และกลุ่มควบคุม 8 คน โดยใช้แบบแผนการวิจัยเชิงทดลองแบบทดสอบก่อน หลัง และติดตามผลโดยมีกลุ่มควบคุม กลุ่มทดลองเข้าร่วมโปรแกรมการปรึกษากลุ่มทฤษฎีเน้นทางออกระยะสั้นเพื่อพัฒนาการแก้ปัญหาเชิงสังคม จำนวน 6 ครั้ง ครั้งละ 90 นาที ส่วนกลุ่มควบคุมไม่ได้เข้าร่วมโปรแกรมการปรึกษา เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบประเมินการแก้ปัญหาเชิงสังคม และทำการวิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบวัดซ้ำประเภทหนึ่งตัวแปรระหว่างกลุ่ม และหนึ่งตัวแปรภายในกลุ่ม และทดสอบความแตกต่างรายคู่โดยวิธีนิวแมนคูล ผลการศึกษา พบว่า มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างวิธีการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 นิสิตกลุ่มทดลองมีคะแนนการแก้ปัญหาเชิงสังคมสูงกว่านิสิตกลุ่มควบคุม ในระยะหลังการทดลอง และระยะติดตามผลอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และนิสิตกลุ่มทดลองมีคะแนนการแก้ปัญหาเชิงสังคมในระยะหลังการทดลอง และระยะติดตามผลสูงกว่าระยะก่อนการทดลอง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 จากผลการวิจัยนี้สรุปได้ว่า การปรึกษากลุ่มตามทฤษฎี การปรึกษาแบบเน้นทางออกระยะสั้นมีผลต่อการแก้ปัญหาเชิงสังคมของนิสิตชั้นปีที่ 1 ได้