Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของการปรึกษาคู่สมรสตามทฤษฎีกลยุทธ์ ต่อความมั่นคงในชีวิตสมรส กลุ่มตัวอย่างในการศึกษาครั้งนี้คือ คู่สมรสที่มีบุคคลใดบุคคลหนึ่ง เป็นพนักงานในโรงเรียนสอนร้องเพลง จำนวน 20 คู่ รวมทั้งสิ้น 40 คน โดยผู้วิจัยคัดเลือกกลุ่มตัวอย่าง คู่สมรสที่มีค่าเฉลี่ยคะแนนความมั่นคงในชีวิตสมรสน้อยที่สุดขึ้นไป จำนวน 20 คู่ สุ่มเป็นกลุ่มทดลอง 10 คู่ และกลุ่มควบคุม 10 คู่ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย แบบวัดความมั่งคงในชีวิตสมรส และโปรแกรมการให้การปรึกษาคู่สมรสทฤษฎีกลยุทธ์ ผู้วิจัยดำเนินการทดลอง จำนวน 10 ครั้ง ครั้งละ 60-90 นาที สัปดาห์ละ 3 ครั้ง รวมทั้งสิ้น 4 สัปดาห์ โดยใช้แบบแผน การวิจัยเชิงทดลองแบบสองตัวประกอบแบบวัดซ้ำหนึ่งตัวประกอบ แบ่งการทดลองออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะก่อนการทดลอง ระยะหลังการทดลองและระยะติดตามผล วิเคราะห์ความแปรปรวนแบบวัดซ้ำประเภทหนึ่งตัวแปรระหว่างกลุ่มและหนึ่งตัวแปรภายในกลุ่มและทดสอบความแตกต่างรายคู่โดยวิธีนิวแมน-คูลส์ ผลการศึกษาพบว่า มีปฏิสัมพันธ์ระหว่างวิธีการทดลอง กับระยะเวลาของการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 คู่สมรสในกลุ่มทดลองมีคะแนนความมั่นคงในชีวิตสมรส ในระยะหลังทดลองสูงกว่ากลุ่มควบคุมในระยะหลังทดลองและติดตามผล อย่างมีนัยสำคัญ ทางสถิติที่ระดับ .05 และคู่สมรสในกลุ่มทดลองมีคะแนนความมั่นคงในชีวิตสมรส ในระยะหลังการทดลองและระยะติดตามผลสูงกว่าระยะก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05