Abstract:
แม้ว่าประเทศไทยจะต้องมีการคลอดธรรมชาติมากเพราะว่ามีอัตราการผ่าตัดคลอดสูง แต่การคลอดธรรมชาติในประเทศไทยก็ยังมีน้อย ดังนั้นการวิจัยครั้งนี้จึงมีวัตถุประสงค์ เพื่อการศึกษาความรู้ ทัศนคติและความต้องการการคลอดธรรมชาติของหญิงตั้งครรภ์ จำนวน 337 คน ครอบครัวจำนวน 337 คน และผู้ให้บริการในหน่วยสูติกรรม คือ แพทย์และพยาบาลที่ทำงานอยู่ในหน่วยฝากครรภ์ ห้องคลอด และหลังคลอดทั้งหมดจำนวน 42 คน ณ โรงพยาบาลเมืองฉะเชิงเทรา เก็บรวบรวมข้อมูลตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2549 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2550 ด้วยแบบสอบถามความรู้ ทัศนคติ และความต้องการคลอดธรรมชาติของหญิงตั้งครรภ์ ครอบครัวและผู้ให้บริการที่คณะผู้วิจัยสร้างขึ้นเอง ซึ่งมีค่าความเชื่อมั่นสัมประสิทธิ์อัลฟาของครอนบาคโดยแบบสอบถามทัศนคติเกี่ยวกับการคลอดธรรมชาติของหญิงตั้งครรภ์ เท่ากับ .82 ของครอบครัว เท่ากับ .77 และของผู้ให้บริการเท่ากับ .70 ส่วนแบบสอบถามความต้องการการคลอดธรรมชาติของหญิงตั้งครรภ์เท่ากับ .85 ของครอบครัวเท่ากับ .84 และของผู้ให้บริการเท่ากับ .79 รวมทั้งแบบสอบถามปัญหาและอุปสรรคในการให้บริการการคลอดธรรมชาติของผู้ให้บริการ เท่ากับ .85 และหาค่าอำนาจจำแนกของแบบสอบถามความรู้ โดยแบบสอบถามความรู้เกี่ยวกับการคลอดธรรมชาติของหญิงตั้งครรภ์เท่ากับ .67 ของครอบครัว เท่ากับ .64 และของผู้ให้บริการเท่ากับ .67
ผลการศึกษาพบว่า หญิงตั้งครรภ์และครอบครัวส่วนใหญ่มีความรู้อยู่ในระดับปานกลางร้อยละ 62.9 ( =23.20, SD=3.321) และ 62.6 ( =23.16, SD=3.481) ตามลำดับ ส่วนผู้ให้บริการส่วนใหญ่มีความรู้อยู่ในระดับมาก (คะแนนอยู่ในช่วง 25-35) ร้อยละ 90.5 หญิงตั้งครรภ์และครอบครัวมีทัศนคติหรือการรับรู้ต่อการคลอดธรรมชาติโดยภาพรวมอยู่ในระดับปานกลาง ( =3.16, SD=0.997 และ =3.17, SD=1.012 ตามลำดับ) ในขณะเดียวกันก็มีความต้องการการคลอดธรรมชาติโดยภาพรวมอยู่ในระดับปานกลาง ( =3.44, SD=0.962 และ =3.45, SD=0.992 ตามลำดับ) เช่นกัน ส่วนผู้ให้บริการมีทัศนคติหรือการรับรู้ต่อการคลอดธรรมชาติโดยภาพรวมอยู่ในระดับดี ( =3.52, SD=0.931) ในขณะเดียวกันก็มีความต้องการการคลอดธรรมชาติโดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก ( =3.95, SD=0.813) เช่นกัน แต่ขณะเดียวกันผู้ให้บริการก็มีปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการให้บริการการคลอดธรรมชาติโดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก ( =3.53, SD=0.974) เช่นกัน
เนื่องจากโรงพยาบาลเมืองฉะเชิงเทรา เป็นโรงพยาบาลประจำจังหวัดฉะเชิงเทรา เพื่อต้องการพัฒนาคุณภาพการให้บริการ ผู้ให้บริการด้านสูติกรรมจึงพยายามนำแนวคิดการคลอดธรรมชาติเข้ามาให้บริการเพราะทราบว่าก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้คลอด ครอบครัว เศรษฐกิจ และสังคม และเป็นการส่งเสริมให้ผู้คลอดมีความพร้อมทั้งทางร่างกายและจิตใจ อารมณ์ และสังคม ทำให้เกิดความมั่นใจในการคลอด ช่วยลดความวิตกกังวล ผลที่ตามมาคือ ลดระยะเวลาในการคลอด ลดการใช้ยาระงับปวด ลดภาวะแทรกซ้อนจากการคลอด ลดการใช้สูติศาสตร์หัตถการและลดค่าใช้จ่าย จึงมีการเชิญวิทยากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านการคลอดธรรมชาติมาให้ความรู้แก่ผู้ให้บริการด้านสูติกรรม จากการวิจัยครั้งนี้จึงพบว่าผู้ให้บริการมีทัศนคติหรือการรับรู้ต่อการคลอดธรรมชาติโดยภาพรวมอยู่ในระดับดีและในขณะเดียวกันก็มีความต้องการให้บริการการคลอดธรรมชาติโดยภาพรวมอยู่ในระดับมากเช่นกัน ซึ่งความต้องการการคลอดธรรมชาติในการศึกษาครั้งนี้ที่สูงสุดมี 5 ข้อ คือ ต้องการให้ทารกดูดนมมารดาในช่วงชั่วโมงแรกหลังคลอด ต้องการให้สามีหรือครอบครัวเข้ามีส่วนร่วมตั้งแต่ระยะแรกหลังคลอด ต้องการการบริหารกล้ามเนื้อบริเวณอุ้งเชิงกรานทำให้การคลอดง่ายขึ้น ต้องการเตรียมความพร้อมด้านจิตใจเพื่อให้เกิดความมั่นใจในการเผชิญกับความเจ็บปวด และต้องการมีสิทธิในการร่วมตัดสินใจในการคลอดธรรมชาติด้วย ดังนั้นจึงต้องพัฒนารูปแบบในการให้บริการการคลอดธรรมชาติที่มีการเตรียมหญิงตั้งครรภ์ทั้งเรื่องความรู้และการสนับสนุนการคลอดธรรมชาติให้ประสบความสำเร็จและมีการให้บริการมากขึ้นในประเทศไทยเพื่อให้บริการที่มีคุณภาพประสบความสำเร็จและผู้รับบริการเกิดความประทับใจต่อการคลอดธรรมชาติ ตลอดจนควรมีการศึกษาในโรงพยาบาลอื่นๆมากขึ้นเพื่อให้ผลการวิจัยได้รับการยอมรับและสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างเหมาะสมต่อไป