Abstract:
ความสามารถด้านมิติสัมพันธ์เป็นองค์ประกอบหนึ่งของสติปัญญามนุษย์ที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตประจำวันของแต่ละบุคคล และมีความแตกต่างกันระหว่างบุคคล อีกทั้งยังเป็นความสามารถที่อาจพัฒนาให้ทัดเทียมกันได้ด้วยการฝึกฝน โดยเฉพาะการฝึกด้วยกิจกรรมผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์ การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาแบบจำลองการติดตามหลายวัตถุทรงเหลี่ยมเคลื่อนที่แบบสามมิติ (3D-MBTM) และศึกษาผลของการฝึกด้วยแบบจำลองการติดตามหลายวัตถุทรงเหลี่ยมเคลื่อนที่แบบสามมิติที่พัฒนาขึ้น สำหรับเพิ่มความสามารถด้านมิติสัมพันธ์ของวัยรุ่นตอนต้นด้วยการเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุมนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น โรงเรียนแสนสุข ปีการศึกษา 2559 จำนวน 60 คน อาสาสมัครเข้าร่วมการวิจัยจัดเข้ากลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม โดยวิธีการสุ่มกลุ่มทดลองได้รับการฝึกด้วยแบบจำลองการติดตามหลายวัตถุทรงเหลี่ยมเคลื่อนที่แบบสามมิติผ่านหน้าจอทีวีวันละ 30 นาที จำนวน 12 วัน ส่วนกลุ่มควบคุมไม่ได้รับการฝึกเก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบทดสอบ Paper Folding & Form Board Test, Card Rotations Test และ Mental Rotations Test สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ t-test, Shapiro-Wilk และ MANOVA ผลการวิจัยปรากฏว่า แบบจำลองการติดตามหลายวัตถุทรงเหลี่ยมเคลื่อนที่แบบสามมิติ ประกอบด้วย 5 ขั้นตอน ได้แก่ การแสดงการบ่งชี้สิ่งเป้าหมาย การเคลื่อนที่ การตอบ และการแสดงผล นอกจากนี้ผลการนำแบบจำลองการติดตามหลายวัตถุทรงเหลี่ยมเคลื่อนที่แบบสามมิติไปใช้กับกลุ่มตัวอย่าง พบว่า หลังการทดลอง กลุ่มทดลองมีคะแนนมิติสัมพันธ์สูงกว่า และใช้เวลาตอบน้อยกว่า เมื่อเทียบกับก่อนการทดลอง และเทียบกับกลุ่มควบคุม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<.05) ในทำนองเดียวกัน หลังการทดลอง กลุ่มทดลองมีความสูงของศักย์ไฟฟ้าสมองที่สัมพันธ์กับเหตุการณ์ P300 สูงกว่า และความกว้างของศักย์ไฟฟ้าสมองที่สัมพันธ์กับเหตุการณ์ P300 น้อยกว่า ในสมอง ส่วนฟรอนทอล ส่วนพาไรทัล และส่วนเทมโพรัล เมื่อเทียบกับก่อนการทดลอง และเทียบกับกลุ่มควบคุม สรุปได้ว่า การฝึกด้วยแบบจำลองการติดตามหลายวัตถุทรงเหลี่ยมเคลื่อนที่แบบสามมิติอย่างต่อเนื่อง สามารถช่วยเพิ่มความสามารถด้านมิติสัมพันธ์ของวัยรุ่นตอนต้นได้