Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) พัฒนาวิธีการประมาณค่าสัมประสิทธิ์การถดถอยใหม่ด้วยวิธีตัวประมาณค่า S ปรับแก้ 2) เปรียบเทียบประสิทธิภาพของตัวประมาณค่าสัมประสิทธิ์การถดถอย ด้วยวิธีตัวประมาณค่า S ปรับแก้กับวิธีตัวประมาณค่า S ภายใต้ 540 สถานการณ์ของ 4 เงื่อนไข คือ ก) ขนาดตัวอย่าง ข) ร้อยละของค่านอกเกณฑ์ ค) จํานวนพารามิเตอร์ และ ง) การแจกแจงของความ คลาดเคลื่อนที่ใช้เกณฑ์การเปรียบเทียบประสิทธิภาพคือ รากของค่าคลาดเคลื่อนกําลังสองเฉลี่ย (Root Mean Square Error: RMSE) และ 3) พยากรณ์เงินรายได้นําเข้าประเทศของแรงงานไทยในต่างประเทศ จากฐานข้อมูลของกรมการจัดหางาน สํานักงานประกันสังคม และธนาคารแห่งประเทศไทยตั้งแต่เดือนมกราคม พ.ศ. 2547 ถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2559 ด้วยวิธีตัวประมาณค่า S ปรับแก้ กําหนดเกณฑ์การพยากรณ์จากร้อยละเฉลี่ยของความคลาดเคลื่อนสัมบูรณ์ (Mean Absolute Percentage Error: MAPE) มีค่าไม่เกินร้อยละ 10 ผลการวิจัยปรากฏว่า 1. ค่าประมาณของสัมประสิทธิ์การถดถอยจากวิธีตัวประมาณค่า S ปรับแก้ คือ β DMST มีประสิทธิภาพดีกว่าค่าประมาณของสัมประสิทธิ์การถดถอยจากวิธีตัวประมาณค่า S โดยผลการพิสูจน์ พบว่า ค่ามัธยฐานของผลต่างระหว่างค่าสังเกตที่ได้เลือกมาจากวิธีต้นไม้ทอดข้ามที่น้อยที่สุด (Differential of Selected Observation by Minimum Spanning Tree: DMST) ที่พัฒนาขึ้นมีสมบัติคล้ายกับค่ามัธยฐานส่วนเบี่ยงเบนสัมบูรณ์ (Median Absolute Deviation: MAD) คือ สมบัติ Affine Equivariance และมีจุดเปลี่ยนข้อมูล 50% 2. ตัวประมาณค่าสัมประสิทธิ์การถดถอยด้วยวิธีตัวประมาณค่า S ปรับแก้ให้ค่า RMSE น้อยกว่าวิธีตัวประมาณค่า S จํานวน 397 สถานการณ์จาก 540 สถานการณ์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสถานการณ์ที่ขนาดตัวอย่างเท่ากับ 100 ค่านอกเกณฑ์ร้อยละ 25 และจํานวนพารามิเตอร์เท่ากับ 5 3. สมการพยากรณ์เงินรายได้นําเข้าประเทศของแรงงานไทยในต่างประเทศจากค่า สัมประสิทธิ์การถดถอยที่ประมาณด้วยวิธีตัวประมาณค่า S ปรับแก้ให้ค่า MAPE เท่ากับร้อยละ 12.042 ซึ่งเกินกว่าร้อยละ 10 แต่มีค่าน้อยกว่า MAPE จากวิธีตัวประมาณค่า S ที่มีค่าเท่ากับร้อยละ 20.187