Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ ศึกษารายละเอียดกรอบเนื้อหาของภาวะสันนิษฐานความพึงพอใจในงาน (JS) ความผูกพันพนักงาน (EE) ความผูกพันในงาน (WE) และความผูกพันองค์การ (OC) และศึกษาวิธีการที่แตกต่างกันสำหรับการตรวจสอบความทับซ้อน รวมทั้งตรวจสอบรูปแบบโมเดลสมการโครงสร้างด้วยแนวคิดโมเดลการวัดแบบก่อตัว (Formative measurement model: FMM) และโมเดลการวัดแบบส่งผลสะท้อน (Reflective measurement model: RMM) โดยทำการศึกษากลุ่มตัวอย่างจากกรมการพัฒนาชุมชน และบริษัท Central plaza hotel public company limited ในส่วนของธุรกิจโรงแรม จำนวน 596 คน ซึ่งเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้มีพิสัยค่าความเชื่อมั่นอยู่ระหว่าง 0.780 ถึง 0.891 ทำการวิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติพื้นฐาน การวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงสำรวจ (EFA) การวิเคราะห์องค์ประกอบเชิงยืนยัน (CFA) การวิเคราะห์สหสัมพันธ์คาโนนิคอล (CCA) และการวิเคราะห์โมเดลสมการโครงสร้าง (SEM) ผลการวิจัยปรากฏ ดังนี้ 1. รายละเอียดกรอบเนื้อหาของภาวะสันนิษฐานความพึงพอใจในงาน ความผูกพันพนักงาน ความผูกพันในงาน และความผูกพันองค์การโดยเน้นที่นิยามของภาวะสันนิษฐานทั้ง 4 ด้าน พบว่า มีบางส่วนของนิยามที่มีความคล้ายคลึงกัน ทั้งด้านผลประโยชน์ที่ได้รับจาก การปฏิบัติงาน ด้านความรู้สึกชอบ พอใจ หรือเป็นส่วนหนึ่งของหน่วยงาน 2. การตรวจสอบความทับซ้อนสามารถสรุปผลการศึกษาในแต่ขั้นตอนการตรวจสอบได้ดังนี้ ขั้นตอนที่ 1 การตรวจสอบการทับซ้อนเชิงเนื้อหาพบว่า นิยามบางส่วนของภาวะสันนิษฐานทั้ง 4 มีการทับซ้อนเชิงเนื้อหา และเมื่อทำการวิเคราะห์ความสอดคล้องระหว่างผู้ประเมิน (Inter rater agreement: IRA) โดยผู้เชี่ยวชาญมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันคือข้อคำถามแต่ละข้อมักสะท้อนถึงภาวะสันนิษฐานได้มากกว่า 1 ภาวะสันนิษฐาน รวมทั้งการตรวจสอบ ค่าสหสัมพันธ์ของงานวิจัยที่ผ่านมา พบว่า ภาวะสันนิษฐานทั้ง 4 มักมีความสัมพันธ์กัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 หรือ 0.01 และมีการนำภาวะสันนิษฐานเหล่านี้ไปศึกษา เชิงเหตุผล ทั้งนี้ตัวแปร OC มักอยู่ในสถานะของตัวแปรผล ในขณะที่ตัวแปร JS มักเป็นตัวแปรเหตุ ส่วนตัวแปร EE และ WE มีทั้งสถานะที่เป็นเหตุ และผล ขั้นตอนที่ 2 การตรวจสอบการทับซ้อนเชิงประจักษ์ กระทำโดยการพิจารณาค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ พบว่า ค่าค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของภาวะสันนิษฐานทั้ง 4 มีความสัมพันธ์กันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01 และเมื่อทำการวิเคราะห์ความเที่ยงตรง เชิงจำแนก (Discriminant validity) และความเที่ยงตรงเชิงการรวมตัว (Convergent validity) โดยการวิเคราะห์ EFA และ CFA พบว่า ภาวะสันนิษฐานทุกคู่สามารถแยกออกจากกันได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01 แต่ความเที่ยงตรงเชิงจำแนกนั้นเกิดขึ้นเฉพาะกับคู่ของภาวะสันนิษฐานที่มี OC ประกอบเท่านั้น ส่วนการตรวจสอบการทับซ้อนโดยการวิเคราะห์ CCA พบว่า ภาวะสันนิษฐานทุกคู่ที่นำมาวิเคราะห์มีค่าการทับซ้อน (Rd) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01 อย่างน้อย 1 คู่ นอกจากนี้เมื่อทำการตรวจสอบ Monological network โดยการตรวจสอบรูปแบบความสัมพันธ์ของภาวะสันนิษฐานทั้ง 4 กับความสอดคล้องระหว่างมุมมองของพนักงาน และองค์การ (Organizational fit: FIT) พบว่า รูปแบบความสัมพันธ์ของภาวะสันนิษฐานทั้ง 4 กับ FIT ในโมเดลสมมติฐาน และโมเดลทางเลือก ไม่มีความแตกต่างกันในทางสถิติ และประการสุดท้ายเมื่อตรวจสอบ Cross-loading โดยการวิเคราะห์ CFA ตามโมเดลสมมติฐาน และโมเดลทางเลือกอีก 4 โมเดล พบว่า ทุกโมเดลมีการ Cross-loading เกิดขึ้นอย่างน้อย 1 เส้น 3. การตรวจสอบโมเดลสมการโครงสร้างความสัมพันธ์ของภาวะสันนิษฐานทั้ง 4 ด้วยแนวคิด FMM และ RMM พบว่า โมเดลทางเลือกที่นำเสนอมีความสอดคล้องกับข้อมูลเชิงประจักษ์ในระดับการยอมรับได้ทั้ง 3 รูปแบบ โดยที่โมเดลที่มีลักษณะเป็น FMM ในภาวะสันนิษฐาน JS และ OC จะมีค่า Weight ซึ่งน้อยกว่าค่า Loading ในรูปแบบที่เป็น RMM