Abstract:
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประสบการณ์และการปรับตัว สภาพการดำเนินชีวิต และสังเคราะห์รูปแบบการดำเนินชีวิตของครอบครัวแม่เลี้ยงเดี่ยวที่ประสบความสำเร็จ โดยใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงคุณภาพ ในรูปแบบการวิจัยเชิงปรากฏการณ์วิทยา ผู้ให้ข้อมูลเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว ที่ประสบความสำเร็จในชีวิต ซึ่งอาศัยอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ได้แก่ จังหวัดนครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี จำนวนทั้งสิ้น 13 ราย โดยการเลือก ผู้ให้ข้อมูลแบบเจาะจง มีวิธีการเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยการสัมภาษณ์เชิงลึก และการสนทนากลุ่ม และวิเคราะห์ผลการวิจัยตามแนวทางการวิเคราะห์เชิงปรากฏการณ์วิทยาของเครสเวล (Creswell, 2007) ผลการวิจัยพบว่า 1. ประสบการณ์และการปรับตัวของครอบครัวแม่เลี้ยงเดี่ยวที่ประสบความสำเร็จ แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่ ระยะวิกฤติกลายเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว เป็นระยะที่ครอบครัวประสบปัญหา ระยะปรับตัวภายหลังเป็นครอบครัวแม่เลี้ยงเดี่ยวเป็นระยะที่ครอบครัวได้ปรับตัวให้เข้ากับ สถานการณ์ปัญหาต่าง ๆ และระยะสมดุลชีวิตใหม่เป็นระยะที่ครอบครัวมีความมั่นคงและ ประสบความสำเร็จ 2. สภาพการดำเนินชีวิตในครอบครัวแม่เลี้ยงเดี่ยว ประกอบด้วยกิจกรรมต่าง ๆ ที่ดำเนินไปอย่างมีแบบแผนเฉพาะและส่งผลให้ครอบครัวแม่เลี้ยงเดี่ยวประสบความสำเร็จ ได้แก่ การจัดการความสัมพันธ์ในครอบครัว การดูแลลูกในครอบครัวแม่เลี้ยงเดี่ยว การจัดการด้านการเงิน และการจัดการทางสังคมและภาพลักษณ์ของแม่เลี้ยงเดี่ยว 3. รูปแบบการดำเนินชีวิตของครอบครัวแม่เลี้ยงเดี่ยวที่ประสบความสำเร็จ จำแนกได้ 2 รูปแบบ ได้แก่ ครอบครัวแม่เลี้ยงเดี่ยวไม่เดียวดาย เป็นครอบครัวที่มีทรัพยากรช่วยเกื้อหนุน และครอบครัวแม่เลี้ยงเดี่ยวนักสู้ซึ่งได้เรียนรู้การเผชิญปัญหาและความเข้มแข็งทางจิตใจของ แม่เลี้ยงเดี่ยวที่ทำให้ครอบครัวประสบความสำเร็จได้ในที่สุด