Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบผลการวิเคราะห์ของโมเดลโค้งพัฒนาการที่มีตัวแปรแฝง และโมเดลออโตรีเกรซซีพที่มีตัวแปรแฝงพัฒนาการในการศึกษาพัฒนาการความสามารถในการคิดวิเคราะห์ และเพื่อเปรียบเทียบผลการวิเคราะห์ของโมเดลโค้งพัฒนาการที่มีตัวแปรแฝง และโมเดลออโตรีเกรซซีพที่มี ตัวแปรแฝงพัฒนาการในการศึกษาปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อพัฒนาการความสามารถในการคิดวิเคราะห์ กลุ่มตัวอย่าง ที่ใช้ในการวิจัย คือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 28 จำนวน 600 คน ได้มาโดยการสุ่มหลายขั้นตอน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย แบบทดสอบวัดความสามารถในการคิดวิเคราะห์ จำนวน 4 ฉบับ เป็นแบบทดสอบคู่ขนาน แบบทดสอบวัดความสามารถด้านเหตุผล แบบวัดเจตคติต่อการเรียน และแบบสอบถามคุณภาพการสอนของครู เก็บข้อมูลซ้ำ จำนวน 4 ครั้ง แต่ละครั้งห่างกัน 4 สัปดาห์ ตรวจสอบความสอดคล้องของโมเดลกับข้อมูลเชิงประจักษ์โมเดลโค้งพัฒนาการที่มีตัวแปรแฝง และโมเดล ออโตรีเกรซซีพที่มีตัวแปรแฝงพัฒนาการด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูป ผลการวิจัยปรากฏว่า 1. ผลการวิเคราะห์ของโมเดลโค้งพัฒนาการที่มีตัวแปรแฝง และโมเดลออโตรีเกรซซีพที่มีตัวแปรแฝงพัฒนาการในการศึกษาพัฒนาการความสามารถในการคิดวิเคราะห์แตกต่างกัน อย่างไรก็ตาม โมเดล 2 รูปแบบนี้ มีความเหมาะสมในการนำไปใช้ศึกษาพัฒนาการความสามารถในการคิดวิเคราะห์ 2. ผลการวิเคราะห์ของโมเดลโค้งพัฒนาการที่มีตัวแปรแฝง และโมเดลออโตรีเกรซซีพที่มี ตัวแปรแฝงพัฒนาการในการศึกษาปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อพัฒนาการความสามารถในการคิดวิเคราะห์แตกต่างกัน โดยโมเดลโค้งพัฒนาการที่มีตัวแปรแฝงมีความเหมาะสมในการนำไปใช้ศึกษาปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อพัฒนาการความสามารถในการคิดวิเคราะห์มากกว่าโมเดลออโตรีเกรซซีพที่มีตัวแปรแฝงพัฒนาการ ตัวแปรความสามารถด้านเหตุผล และเจตคติต่อการเรียน มีอิทธิพลทางตรงต่อพัฒนาการความสามารถในการคิดวิเคราะห์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ส่วนตัวแปรคุณภาพการสอนของครูไม่พบว่ามีอิทธิพลต่อความสามารถในการคิดวิเคราะห์ และตัวแปรในโมเดลร่วมกันอธิบายความแปรปรวนของคะแนนความสามารถเริ่มต้น ร้อยละ 33 และ อัตราพัฒนาการ ร้อยละ 20