Abstract:
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาถึงสภาพและประเมินความต้องการจำเป็นในระบบประกันคุณภาพการศึกษาภายในระดับเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 3 2) เพื่อพัฒนาระบบประกันคุณภาพการศึกษาภายในระดับเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 3 3) เพื่อพัฒนา ตัวบ่งชี้ในระบบประกันคุณภาพการศึกษาภายในระดับเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 3 กับสถานศึกษาในเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 3 และ 4) เพื่อทดลองใช้และประเมินผลการใช้ระบบประกันคุณภาพการศึกษาภายในระดับเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 3 กับสถานศึกษาในเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 3 ขั้นตอนการดำเนินงานวิจัยแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 เป็นการศึกษาสภาพและการประเมินความต้องการจำเป็นในการพัฒนาระบบประกันคุณภาพการศึกษาภายในระดับเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 3 คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้ให้ข้อมูลสำคัญแบบเจาะจง จำนวน 3 คน ระยะที่ 2 เป็นการพัฒนาระบบประกันคุณภาพภายในระดับเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 3 ด้วยการเลือกใช้เทคนิคเดลฟาย มีกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 17 คน ระยะที่ 3 การทดลองใช้ระบบประกันคุณภาพการศึกษาภายในระดับเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษากับสถานศึกษาในเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 3 โดยทดลองใช้กับโรงเรียนขนาดใหญ่พิเศษ โรงเรียนขนาดใหญ่ โรงเรียนขนาดกลาง และโรงเรียนขนาดเล็ก ผลการวิจัย พบว่า 1. ผลการศึกษาสภาพและการประเมินความต้องการจำเป็นในการพัฒนาระบบประกันคุณภาพการศึกษาภายในระดับเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 3 สามารถแบ่งปัญหาได้ดังนี้ 1) ปัญหาด้านนักเรียน 2) ปัญหาด้านครู 3) ปัญหาด้านหลักสูตร และ 4) ปัญหาด้านสิ่งสนับสนุนการเรียนรู้ โดยความต้องการจำเป็นที่สูงที่สุดในการพัฒนาระบบประกันคุณภาพการศึกษาภายในระดับเขตพื้นที่มัธยมศึกษา เขต 3 คือ จำนวนการรับ นโยบายเรียนฟรีที่ไม่มีการควบคุมดูแล และงบประมาณ ส่วนการพัฒนาการอบรม ความรู้ความสามารถบุคลากรใหม่ และกิจกรรมการเรียนรู้เชิงวิชาการ ถือเป็นการพัฒนาที่มีความต้องการจำเป็นน้อยที่สุด 2. ระบบประกันคุณภาพการศึกษาภายในระดับเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 3 ประกอบด้วย 3 องค์ประกอบหลัก คือ 1) การปฏิบัติงานของสถานศึกษา 2) การประเมินตนเอง ของสถานศึกษา 3) รายงานประจำปี ซึ่งมาตรฐานที่ควรมีในระบบประกันคุณภาพการศึกษาภายใน ประกอบด้วย 1) นักเรียน ประกอบด้วย การรับนักเรียน และการส่งเสริมและพัฒนา 2) ครู ประกอบด้วย การพัฒนาความรู้ความสามารถ พัฒนาคุณธรรม พัฒนาบุคลากรใหม่ การติดตาม การทำงานและความโปร่งใส การอบรม และการสร้างขวัญกำลังใจ 3) หลักสูตร ประกอบด้วย การพัฒนาหลักสูตร และการตรวจสอบหลักสูตร และ 4) สิ่งสนับสนุนการเรียนรู้ ประกอบด้วย ผู้ปกครอง และสิ่งอำนวยความสะดวก 3. การพัฒนา ตัวบ่งชี้ในระบบประกันคุณภาพการศึกษาภายในระดับเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 3 กับสถานศึกษาในเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 3 โดยการวิเคราะห์ ความถูกต้องเหมาะสมและความสอดคล้องของตัวบ่งชี้ของระบบการประกันคุณภาพการศึกษา ด้วยวิธีการคำนวณค่าพิสัยระหว่างควอร์ไทล์ (Inter quartile range) ของความคิดเห็นผู้เชี่ยวชาญ พบว่า ตัวบ่งชี้ของคู่มือระบบประกันคุณภาพการศึกษาภายในระดับเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 3 ที่พัฒนาขึ้นมีความถูกต้องเหมาะสมอยู่ในระดับมากหรือมากที่สุดในทุกรายการ 4. ผลการทดลองใช้ระบบและผลการประเมิน พบว่า ผลการประเมินระหว่าง การประเมินตนเองโดยสถานศึกษา และการประเมินโดยกลุ่มผู้ประเมินมีคะแนนต่างกันเล็กน้อย แสดงว่าคู่มือระบบประกันคุณภาพการศึกษาภายในระดับเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 3 ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น ผู้ที่นำไปใช้มีความเข้าใจในการประเมินผลใกล้เคียงกับผู้ประเมินที่ผ่านการอบรมก่อนการทำการประเมิน ซึ่งการตรวจสอบมาตรฐานตัวบ่งชี้และระบบประกันคุณภาพการศึกษา ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น ภายหลังการนำคู่มือระบบประกันคุณภาพการศึกษาภายใน ระดับเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 3 ไปทดลองใช้ โดยการประเมินความเหมาะสมของตัวบ่งชี้ในระบบประกันคุณภาพการศึกษา แบ่งออกเป็น 4 ด้าน คือ 1) การใช้ประโยชน์ 2) ความเป็นไปได้ 3) ความเหมาะสมในกฎระเบียบจริยธรรม/ จรรยาบรรณและความปลอดภัย และ 4) ความถูกต้อง พบว่า ด้านความถูกต้อง ด้านความเหมาะสม และด้านการใช้ประโยชน์มีผลคะแนนการตรวจสอบในระดับสูงมาก โดยมีคะแนนเฉลี่ย 4.62 4.57 และ 4.55 ตามลำดับ ส่วนด้านความเป็นไปได้มีผลการคะแนนตรวจสอบในระดับสูง โดยมีคะแนนเฉลี่ย 4.27