Abstract:
งานวิจัยนี้ศึกษาศักยภาพและข้อจำกัดการใช้เทคนิค Differential InSAR และการคำนวนการกระจายตัวใหม่ของแรงเค้นบริเวณรอยเลื่อนที่เคลื่อนตัวขณะเกิดแผ่นดินไหวเชียงรายขนาด Mw 6.3 ที่อำเภอพาน เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 โดยการประมวลผลด้วยเทคนิค DInSAR ข้อมูลที่นำมาใช้ คือ ภาพถ่ายจากดาวเทียม RADARSAT-2 ในแนวโคจรขาขึ้นของวันที่ 11 กรกฎาคม ค.ศ.2012 และวันที่ 14 พฤษภาคม ค.ศ.2014 โดยนำแบบจำลองความสูงเชิงเลข (SRTM DEM) มาใช้ร่วมด้วยเพื่อลดความคลาดเคลื่อนที่มาจากภูมิประเทศ ผลการศึกษา พบว่ารูปแบบการเคลื่อนตัวขณะเกิดแผ่นดินไหวบริเวณรอยเลื่อนพะเยานั้นไม่ชัดเจน เมื่อวิเคราะห์หาสาเหตุพบ ปัจจัย 3 ประการ คือ 1. ความแปรปรวนที่เกิดขึ้นจากการบันทึกภาพระหว่างสองช่วงเวลามีระยะห่างมากไปโดยมีระยะห่างกันถึง 672 วัน 2.ค่า Signal to Noise Ratio มีขนาดใหญ่กว่าค่าการเคลื่อนตัวของแผ่นดิน เนื่องจากไม่สามารถลดทอนความคลาดเคลื่อนอื่น ๆ ที่ปะปนมาใน Interferometric Phase ให้เหลือจนกระทั่งเห็นค่าการเคลื่อนตัวของแผ่นดินได้ 3. ค่าสหสัมพันธ์ในภาพมีค่าต่ำโดยเฉพาะอย่างยิ่งบริเวณรอยเลื่อนพะเยามีค่าเพียง 0.1278 เนื่องจากมีพืชพรรณปกคลุมในขณะที่ค่าสหสัมพันธ์สูงสุดคือ 0.8136 ซึ่งอยู่บริเวณเมืองเชียงราย เนื่องจากมีพื้นที่โล่งทำให้ค่าการสะท้อนกลับของสัญญาณที่ดี การประมวลผล Coulomb Stress Change โดยใช้ข้อมูลจาก GlobalCMT พบว่า มีการส่งถ่ายแรงจากรอยเลื่อนพะเยาในแนวเหนือ-ใต้ มีเพิ่มขึ้นของแรงเค้น โดยมีค่า 1.465 บาร์ในขณะที่แนวตะวันออก-ตะวันตกของรอยเลื่อนที่ทำการเคลื่อนตัวพบค่าแรงเค้นที่ลดลง โดยมีค่า -1.439 บาร์