Abstract:
การเสริมสร้างความหวังในผู้ป่วยที่พยายามฆ่าตัวตายเป็นการเสริมสร้างพลังด้านบวกให้เกิดความเข้มแข็งในจิตใจ ทำให้ผู้ป่วยมีความหวังต่อการดำเนินชีวิตต่อไปในอนาคต การวิจัยกึ่งทดลองนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของการเสริมสร้างความหวังด้วยการวาดภาพบำบัดต่อความหวังในผู้ป่วยที่พยายามฆ่าตัวตายกลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้ป่วยที่มีอายุ 18-59 ปีที่พยายามฆ่าตัวตายและมารับบริการในโรงพยาบาลวิเชียรบุรีโดยมีคุณสมบัติตามเกณฑ์ที่กำหนด จำนวน 20 คน ทำการสุ่มเข้ากลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม กลุ่มละ10 คน กลุ่มทดลองได้รับการวาดภาพบำบัดที่สร้างขึ้นโดยการประยุกต์ ใช้แนวคิดทฤษฎีการพยาบาลการดูแลมนุษย์ของวัตสัน แนวคิดความหวังของเฮิร์ท และขั้นตอนการทำ ศิลปะบำบัดของทวีศักดิ์ สิริรัตน์เรขา และสมจิตรไกรศรี (2551) กลุ่มทดลองเข้าร่วมการเสริมสร้างความหวังด้วยการวาดภาพบำบัด โดยมีกิจกรรม จำนวน 5 ครั้ง ครั้งละ 90-120 นาที ส่วนกลุ่มควบคุมได้รับการพยาบาลตามปกติเครื่องมือที่ใช้วัดผลลพัธ์ของ การเข้าร่วมโปรแกรมในระยะก่อนการทดลอง หลังการทดลองและระยะติดตามผล 1 เดือน คือ แบบประเมินความหวังของเฮิร์ท วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณา สถิติทดสอบค่าที และการวิเคราะห์ความแปรปรวนสองทางแบบวัดซ้ำ และทดสอบความแตกต่างรายคู่ด้วยวิธี บอนเฟอโรนี (Bonferroni) ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มทดลองในระยะหลังการทดลองเสร็จสิ้นทันทีและระยะติดตามผล 1 เดือน มีคะแนนเฉลี่ยความหวังแตกต่างกับกลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001 และกลุ่มทดลองมีคะแนนเฉลี่ยความหวังในระยะก่อนการทดลอง หลังการทดลองเสร็จสิ้นทันที และระยะติดตามผล 1 เดือน แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001 จากการทดสอบเป็นรายคู่พบว่า ในระยะหลังการทดลองเสร็จสิ้นทันทีกับระยะติดตามผล 1 เดือน คะแนนเฉลี่ย ความหวังแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 ผลการวิจัยครั้งนี้มีข้อเสนอแนะว่า พยาบาลและบุคลากรทางสุขภาพที่เกี่ยวข้อง ควรนำกิจกรรมการวาดภาพบำบัดไปใช้เป็นแนวทางเพื่อเสริมสร้างความหวังให้กับผู้ป่วยที่พยายามฆ่าตัวตาย